ธุงใยแมงมุม : พุทธบูชาตามความเชื่อคนอีสาน
ธุงใยแมงมุม : พุทธบูชาตามความเชื่อคนอีสาน
ธุง เป็นสิ่งประดิษฐ์เพื่อประดับตกแต่งเป็นเครื่องหมาย หรือป้ายบอกกิจกรรมหรือถวายเป็นพุทธบูชาของชาวอีสาน
…..ทำด้วยเส้นฝ้ายย้อมสีและไม้ไผ่ โดยใช้ไม้ไผ่เหลาเป็นซี่เล็ก ๆ ไขว้กากบาทกันแล้ว ใช้เส้นฝ้ายพันสานกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส จากศูนย์กลางออกมาเรื่อย ๆ และมักจะใช้ฝ้ายสีพันเป็นแถบสีสลับกันเป็นชั้น ๆ ขนาดของธุงหรือธงจะเล็กใหญ่ต่าง ๆ กัน แล้วนำธุงมาต่อกันเป็นผืนยาว ทิ้งชายห้อยให้แกว่งปลิวไปตามลม ธุง หรือ ธงชนิดนี้จะมีสีสันสวยงาม จึงมักแขวนประดับไว้ตามศาลาการเปรียญของวัด เป็นพุทธบูชาตามความเชื่อของชาวบ้าน
ธงชนิดหนึ่งของภาคอีสาน มีชื่อเรียกเป็นธุงชนิดต่าง ๆ หลากหลายตามโอกาส เช่น ธุงที่ใช้ในงานบุญผะเหวด เรียกว่า ธุงผะเหวด
ธุงที่ใช้ในพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับ เรียกว่า ธุงแจกข้าว ธุงที่ประดิษฐ์จากโครงไม้ไผ่ถักด้วยเส้นด้าย-ไหม เรียก ธุงใย ธุงใบพร้าว คือ ธุงที่ถักสานจากใบมะพร้าว ธุงข้าวตอก คือ ธุงที่ร้อยเป็นสายประดิษฐ์ เป็นเครื่องแขวน ทำจากข้าวตอกที่ได้จากการคั่วข้าวเปลือกให้พอง
ธุง ที่เห็นแพร่หลายคือ ธุงทอจากเส้นใย ส่วนใหญ่จะใช้เส้นยืนฝ้าย และยกเป็นลายด้วยไหมให้สวยงาม โดยจะทอด้วยเทคนิค ขิด หรือยก แบบทอผ้ายกมีความกว้างราว 1 ศอก และยาวเท่าปลายไม้ไผ่ใช้แขวนประดับตกแต่ง
ธุง หรือธง ชนิดนี้ เป็นหัตถกรรมเก่าแก่ของมนุษย์ทำมาตั้งแต่สมัยกรีกและชาวอินเดียนแดงในทวีปอเมริกาก็ทำธงชนิดนี้เพื่อประกอบการสวด โดยจะพันเส้นฝ้ายทีละรอบ ๆ คล้ายการนับลูกประคำในการสวดมนต์ภาวนา
ธุงชนิดนี้บางทีเรียก ธุงใยมุม หรือธุงใยแมงมุม หรือธงใยแมลงมุม
ดวงเดือน ไชยโสดา….รายงาน
เอกสารอ้างอิง
วิบูลย์ ลี้สุวรรณ, “ธุง,” บ้านเมือง (12 กรกฎาคม 2534 ) : 14.
“รู้จัก “ธุง” อีสาน” ผู้จัดการรายวัน (16 กรกฎาคม 2545) :16.