พระพุทธมิ่งเมือง : พระพุทธรูปยืนวัดสุวรรณาวาสคู่เมืองมหาสารคาม
ชื่อวัด : วัดสุวรรณาวาส
พิกัดภูมิศาสตร์ : ละติจูด 16.322309, 103.298860
ประเภทวัด : วัดราษฏร์
นิกาย : มหานิกาย
ที่ตั้ง : ตั้งอยู่ที่บ้านโคกพระ ตำบลโคกพระ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม มีเนื้อที่ทั้งหมด 9 ไร่ 99 ตารางวา
ประวัติความเป็นมา :
วัดสุวรรณาวาส เดิมมีชื่อเรียกว่า วัดโคกพระ ไม่ปรากฏหลักฐานในการสร้างที่ชัดเจนนัก เรียกชื่อวัดตามชื่อหมู่บ้าน เพราะสถานที่ตั้งของวัดในอดีตนั้นเป็นที่ป่ารกหนาทึบ ชาวอีสานเรียกป่าชนิดนี้ว่า ดอน หรือโคก ในโคกนี้มีพระพุทธรูปยืนอยู่ 1 องค์ พระพุทธรูปองค์นี้สร้างด้วยศิลาแลง วัดที่สร้างขึ้นนี้ อาศัยมงคลนามตามโคกพระยืน จึงได้ชื่อว่า วัดโคกพระ ต่อมาในปีใดไม่ปรากฏ วัดจึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นวัดสุวรรณาวาส ผู้สร้างวัดครั้งแรก ประมาณปี พ.ศ. 2440 คือพระครูวินัยธร (เปลี่ยน เรืองศรีมั่น) พร้อมด้วยชาวบ้าน โดยมีนายหมวก เรืองศรีมั่น เป็นหัวหน้าชาวบ้าน ได้มาแผ้วถางโคกพระยืน แล้วลงหลักปักเขตวัดด้วยไม้ท่อนเนื้อแข็งรอบโคกพระยืน ชาวบ้านเรียกว่า จวนวัด แล้วได้ปลูกสร้างศาลาขึ้น 1 หลัง
สิ่งสำคัญภายในวัด :
พระพุทธมิ่งเมือง
พระพุทธมิ่งเมือง
พระพุทธมิ่งเมือง มีพุทธลักษณะเป็นแบบทวารดีผสมพื้นเมือง สร้างขึ้นด้วยหินทรายแดง มีความสูงตลอดองค์พระประมาณ 8 ศอก กว้าง 2 ศอก ชาวบ้านนิยมเรียกว่า หลวงพ่อพระยืน หรือหลวงพ่อพระพุทธมิ่งเมือง ซึ่งตามประวัติพระพุทธรูปองค์นี้ สร้างขึ้นเมื่อปี “ฮวยสง้า” ในราวปีพุทธศักราช 1399 พระพุทธรูปองค์นี้ผินพระพักตร์ไปทางทิศใต้ เป็นพระคู่บ้านคู่เมือง เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพบูชาของชาวอำเภอกันทรวิชัย และชาวจังหวัดมหาสารคามทุกคน สร้างขึ้นในสมัยเดียวกับพระพุทธรูปยืนมงคล ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดพุทธมงคล ตำบลโคกพระ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
มีตำนานเรื่องเล่าว่าพระพุทธรูปยืนวัดสุวรรณาวาส อำเภอกันทรวิชัย มีเรื่องเล่าว่าถิ่นที่เป็นอำเภอกันทรวิชัยปัจจุบันนี้เดิมเป็นเมืองชื่อ เมืองคันธาร์ธิราช มีเจ้าเมืองขอมปกครอง ต่อมาได้กลายเป็นเมืองร้าง เจ้าเมืองคันธาร์ธิราชองค์สุดท้ายชื่อ ท้าวลินทองหรือสิงห์โตดำ ท้าวสิงโตดำมีนิสัยโหดร้ายและได้แย่งราชสมบัติจากบิดาโดยจับขังและให้อดอาหารจนสิ้นชีวิต และสั่งให้ฆ่าพระมารดาที่พยายามแอบนำอาหารไปให้ ภายหลังท้าวสิงโตดำเมื่อได้ครองเมืองแล้วเกิดมีแต่ความร้อนรุ่มกระวนกระวาย โหรจึงแนะนำให้สร้างพระพุทธรูปเพื่อล้างบาป ท้าวสิงโตดำจึงได้สร้างพระพุทธรูปยืน ๒ องค์ องค์หนึ่งอยู่กลางเมืองเพื่อระลึกถึงพระบิดาปัจจุบันอยู่ที่วัดสุวรรณาวาส ใกล้ตลาดอำเภอกันทรวิชัย และอีกองค์หนึ่งอยู่นอกเมืองเพื่อระลึกถึงพระมารดา พระพุทธรูปยืนองค์นี้ปัจจุบันอยู่ใต้ต้นโพธิ์ในวัดพุทธมงคล บ้านสระ ตำบลคันธารราษฎร์ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม และเมื่อพระเจ้าสิงโตสิ้นชีวิตชาวเมืองได้นำไปฝังที่ป่านอกเมืองและสร้างพระ นอนเหนือหลุมฝังศพ ปัจจุบันเรียกว่า ดอนพระนอน กล่าวกันว่าผู้ใดพบเห็นพระนอนองค์นี้จะประสบโชคร้ายเนื่องจากกระแสแห่งความโหดร้ายของท้าวสิงโต ปัจจุบันนี้ไม่มีผู้ใดพบเห็นพระนอนองค์นี้อีกเลย
สิม
สิมวัดสุวรรณาวาส เป็นสิมทึบตัวอาคารก่ออิฐถือปูน โดยช่างญวณที่อพยพมาในภาคอีสานเป็นผู้สร้าง ลักษณะรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของสิมหลังนี้มีการผสมผสานของวัฒนธรรมจากช่างหลวงกับช่างพื้นบ้าน ลักษณะแผนผังของสิมเ
ป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 4.98 เมตร ยาว 8.73 เมตร มีขนาดเล็ก มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนฐานเป็นฐานชั้นเดียวลักษณะเป็นฐานบัวลูกแก้งอกไก่ ปลายของส่วนฐานเชิดขึ้นเล็กน้อย ตามแบบอย่าอิทธิพล มีทางเข้าด้านหน้าเพียงด้านเดียว ที่ประตูทั้งสองด้านประดับรูปสิงโต ไม่ปรากฎฮูปแต้ม (จิตรกรรมฝาผนัง) ทั้งภายนอกและภายใน
ดวงเดือน ไชยโสดา…เรียบเรียง
เอกสารอ้างอิง :
กรมการศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 12. กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา, 2536.
อธิการ สุขศรี. พุทธปฏิมา : การอนุรักษ์ละสืบสานคุณค่าทางวัฒนธรรมในอีสาน. วิทยานิพนธ์ ปร.ด. มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2553.