พระพุทธมงคล : พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์มิ่งขวัญชาวมหาสารคาม
ชื่อวัด : วัดสุวรรณมงคล หรือ วัดพุทธมงคล (วัดพระยืน)
พิกัดภูมิศาสตร์ : ละติจูด 16.309006 ลองจิจูด 103.300565
ประเภทวัด : วัดราษฏร์
นิกาย : มหานิกาย
ที่ตั้ง : ตั้งอยู่ที่บ้านสระ ถนนถีนานนท์ หมู่ที่ 2 ตำบลคันธารราษฎร์ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 21ไร่ 2 งาน 41 ตารางวา อาณาเขต ทิศเหนือประมาณ 5 เส้น จดถนนสาธารณะสายบ้านสระ – บ้านโพน ทิศใต้ประมาณ 4 เส้น 6 วา 1 ศอก จดที่สารธารณประโยชน์ ทิศตะวันออกประมาณ 5เส้น 12 วา 1 ศอก จดที่ดินของนายโฮม และนายไข ทิศตะวันตกประมาณ 4 เส้น 12 วา จดถนนสายมหาสารคาม – กาฬสินธุ์
ประวัติความเป็นมา :
วัดพุทธมงคล ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2245 เดิมชื่อวัดโพธิ์หรือวัดพระยืน เนื่องจากมีต้นโพธิ์ในบริเวณวัดจำนวนมาก จึงเรียกว่า วัดโพธิ์ ที่เรียกว่า วัดพระยืน เพราะมีพระพุทธรูปยืนอยู่ใต้ต้นโพธิ์มีอยู่ก่อนการตั้งวัด จึงเรียกว่า วัดพระยืน โดยชาวบ้านพร้อมกับพระมหาราชสุจิตฺโต ซึ่งเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นมา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2506 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร ภายในวัดมีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม ซึ่งเปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2468 โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2521 และศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2533
สิ่งสำคัญภายในวัด :
พระพุทธมงคล (พระยืน)
พระพุทธมงคล หรือพระยืน เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของอำเภอกันทรวิชัย เป็นพระพุทธรูป
สลักจากหินทราย ศิลปะสมัยทวาราวดี สูงประมาณ 4 เมตร มีเค้าพระพักตร์เป็นรูปทรงกระบอกองค์พระพุทธรูปยืนเอียงแบบตริภังค์ ครองจีวร ห่มเฉียง ชายผ้าสังฆาฏิทําเป็นจีบซ้อนและทิ้งชายผ้ายาวเลยพระนาภี (หน้าท้อง) พระหัตถ์ซ้ายขนานกับพระวรกาย ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธรูปวัฒนธรรมทวาราวดีในช่วงปลายที่ผสมผสานกับศิลปะแบบท้องถิ่น อายุราวพุทธศตวรรษที่ 14-16 ส่วนพระพักตร์และพระหัตถ์ขวาที่ชํารุดได้รับการซ่อมบูรณะเมื่อปี พ.ศ.2460 ตามความเข้าใจของชาวบ้านผู้ที่มีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา โดยให้พระหัตถ์ขวาจับบริเวณพระนาภี (หน้าท้อง) ทําให้แบบแผนขององค์พระพุทธรูปผิดไปจากพุทธลักษณะแบบดั้งเดิม เพราะการสร้างพระพุทธรูปยืนให้พระหัตถ์ขวาจับที่พระนาภี (หน้าท้อง) นั้นไม่เคยปรากฎตามแบบแผนพุทธลักษณะแบบดั้งเดิม ถ้าพระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ (หน้าอก) จะเป็นการแสดงปางประทานอภัยหรือปางแสดงธรรม หรือถ้าผายพระหัตถ์ค่อนไปด้านหน้าเพื่อแสดงปางประทานพร พระพุทธมงคลนี้ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุสำคัญของชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 เมื่อ 8 มีนาคม 2478 ปัจจุบันพระพุทธมงคลประดิษฐานอยู่ใต้ต้นโพธิ์บนเนินดินที่ลานโพธิ์กลางวัด
พระยืน มีตำนานเล่าขานว่า ท้าวลินทอง ต้องการจะขึ้นครองเมืองแทนท้าวลินจงบิดา จึงได้ทารุณกักขังท้าวลิจง จนเสียชีวิต และด้วยความเป็นคนโมโหร้ายจึงได้ฆ่ามารดาด้วย ต่อมาท้าวลินทองสำนึกถึงบาปที่ได้กระทำไว้ต่อบิดามารดา จึงได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นเพื่อเป็นการไถ่บาป โดยสร้างพระยืนมงคลแทนบิดา (พระพุทธมงคล) ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดพุทธมงคล และได้สร้างพระยืนมิ่งเมืองแทนมารดา (พระพุทธมิ่งเมือง) ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดสุวรรณาวาส ต.โคกพระ อ.กันทรวิชัย จ. มหาสารคาม
เสมาหินสมัยทวาราวดี
บริเวณรอบลานโพธิ์ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธมงคล มีใบเสมาหิน สมัยทวารวดีปักล้อมอยู่ 2ชั้น ทั้ง 8 ทิศ ลักษณะใบเสมาเป็นแบบแผ่นเรียบแบน และแบบแท่งสี่เหลี่ยม แต่ปัจจุบันทางวัดได้เทพื้นคอนกรีตเป็นลานโดยรอบ ทำให้ใบเสมาถูกฝังอยู่ใต้พื้น คงโผล่ส่วนบนขึ้นมาเพียงเล็กน้อย
อาคารเสนาสนะ
ดวงเดือน ไชยโสดา…
เอกสารอ้างอิง :
คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดมหาสารคาม. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2544.
นัยนา ศีลธร และคนอื่น ๆ. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 12. กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา, 2536.
พิเนตร ดาวเรือง. กระบวนการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วมเพื่อการจัดการพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน
วัดพุทธมงคล ตำบลคันธารราษฎร์ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม. วิทยานิพนธ์ ศศ.ม.
มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2552.