ฮีตเดือนหก เอาบุญบั้งไฟ

บุญเดือนหก บุญบั้งไฟ

เป็นงานประเพณีท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและความเชื่อทางศาสนาของชาวอีสานมาช้านาน บุญบั้งไฟเป็นงานสำคัญของชาวอีสานก่อนลงมือทำนา ด้วยความเชื่อว่าเป็นการขอฝนเพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าในนาอุดมสมบูรณ์ ประชาชนอยู่อย่างมีความสุข ในงานจะมีการแห่บั้งไฟและจุดบั้งไฟเพราะเชื่อว่าเป็นการส่งสัญญาณขึ้นไปบอกพญาแถนให้ส่งน้ำฝนลงมา ระหว่างที่มีการจุดบั้งไฟชาวบ้านจะมีการเซิ้งอย่างสนุกสนาน การทำบุญบั้งไฟนับเป็นการชุมนุมที่สำคัญของคนในท้องถิ่นที่มาร่วมงานบุญกันอย่างสนุกสนานเต็มที่ มีการนำสัญลักษณ์ทางเพศมาล้อเลียนในขบวนแห่บั้งไฟ โดยไม่ถือว่าเป็นเรื่องหยาบคาย การทำบุญบั้งไฟนี้บางทีจะตรงกับประเพณีบุญวันวิสาขบูชาด้วย นี่เป็นอีกหนึ่งงานประเพณีอีสาน ซึ่งเมื่อได้ไปดู ไปรู้ ไปเห็นแล้วจะเข้าใจถึงความหมายของภาคอีสานที่ว่า “แหล่งเรียนรู้ อู่อารยธรรม” ที่สำคัญของเมืองไทยจริงๆ

กาพย์เซิ้งบั้งไฟ

ประวัติความเป็นมา

กาพย์เซิ้งบั้งไฟ เป็นร้อยกรองท้องถิ่นอีสานหรือเป็นเพลงพื้นบ้านประเภทเพลงประกอบ

พิธีของชาวบ้านอีสาน ที่ร้องในขบวนแห่บั้งไฟในงานประเพณีบุญบั้งไฟ เดือน ๖ มีผู้นำคนหนึ่ง

เป็นคนขับเนื้อความ แล้วคนอื่น ๆในขบวนจะร้องรับไปเรื่อย ๆ เรียกว่า การเซิ้ง ประกอบการฟ้อน

ตามจังหวะของกลองตุ้มและเครื่องดนตรีอื่น ๆ ที่ใช้ประกอบ เช่น พังฮาด โทน กาพย์เซิ้งบั้งไฟ

แต่งด้วยคำประพันธ์ที่เรียกว่า กาพย์ ๗ คำ วรรคหนึ่งมี ๗ คำ ข้างหน้า ๓ คำ ข้างหลัง ๔ คำ

คำสุดท้ายของวรรคที่ 2 จะส่งเสียงสัมผัสไปที่คำใดก็ได้ในวรรคต่อไป (คำสัมผัสในภาษาอีสาน

เรียกว่า คำก่าย) นิยมสัมผัสกับคำที่ ๓ โดยใช้ระดับเสียงของคำที่สัมผัสเป็นเสียงวรรณยุกต์

เดียวกัน บทหนึ่งจะมีกี่วรรคก็ได้แล้วแต่เนื้อความ นิยมใช้กับการเชิ้งแบบต่าง ๆ เช่น เช้งนางด้ง

เซิ้งนางแมว คำสอน บทกล่อมเด็ก

ความสำคัญและคุณค่าแห่งมรดกภูมิปัญญา การเซิ้งบั้งไฟแต่แรกเริ่ม เป็นการละเล่นประกอบพิธีกรรมแห่บั้งไฟ เพื่อขอฝนของชาวนา เป็นการบวงสรวงพญาแถนหรือเทดาในความเชื่อดั้งเดิมของชาวไทลาว เพื่อขอให้น้ำฟ้าตกตามฤดูกาล จึงจัดขึ้นในเดือน ๖ เพื่อเป็นสัญญาณเตรียมทำไร่ทำนาและเสี่ยงทายดินฟ้าอากาศ หากจุดบั้งไฟไม่ขึ้นหรือบั้งไฟแตก ทำนายว่าฝนจะแล้ง หากจุดบั้งไฟได้สูงแสดงว่าฝนฟ้าจะตกต้องตามฤดูกาล การเซิ้งบั้งไฟ จึงเป็นพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ที่ต้องมีเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้องตามคติความเชื่อของคนในสังคมเกษตรกรรม ทำให้ในขบวนเซิ้งซึ่งแต่เดิมมีเฉพาะผู้ชายและผู้ชายแต่งกายเป็นหญิง นำหุ่นชายหญิงแสดงท่าทางการร่วมเพศชักไปตลอดทาง และในคำเซิ้งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเพศและเรื่องตลกหยาบโลน เพื่ออ้อนวอนให้เทวดาส่งฝนลงมาตามคำขอในสมัยต่อมาเมื่อการเซิ้งบั้งไฟกลายเป็นงานประเพณีของชุมชน มีการประกวดแข่งขันกันระหว่างหมู่บ้าน อำเภอจังหวัด รูปแบบและเนื้อหาของกาพย์เซิ้งบั้งไฟก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย คณะเซิ้งมีทั้งผู้ชายและผู้หญิง การฟ้อนช้า ๆ ตามจังหวะช้า ๆ ของกลองตุ้มก็เปลี่ยนเป็นการประดิษฐ์ท่ารำให้อ่อนช้อยสวยงาม จังหวะและท่วงทำนองเปลี่ยนเป็นสนุกสนานตามลีลาของกลองยาวและแคน ในปัจจุบันเนื้อหาของกาพย์เซิ้งในขบวนแห่มีหลากหลายมากขึ้น ทั้งการร้องเล่าตำนาน เช่น เรื่องผาแดงนางไอ่ เล่าคำสอนเช่น เรื่องกาพย์พระมุนี เล่าเกี่ยวกับสังคมและเหตุการณ์ปัจจุบัน รวมถึงยังนิยมใช้เพลงลูกทุ่งแทนกาพย์เซิ้งแบบเดิม กาพย์เซิ้งบั้งไฟ ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๗

ดวงเดือน ไชยโสดา…รายงาน

เอกสารอ้างอิง : มรดกภูมิปัญญาอีสาน. (2562). [กรุงเทพฯ]: กลุ่มสงวนรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สถาบันวัฒนธรรมศึกษา กรมส่งเสริมวัฒนธรรม.