แบบเรียนอักษรธรรมอีสาน
หนังสือแบบเรียนอักษรธรรมอีสาน ฉบับปรับปรุงนี้ เรียบเรียงและจัดทำโดย อาจารย์สมัย วรรณอุดร สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เนื่องจากอักษรธรรมอีสานเป็นอักษรที่บันทึกสรรพวิชาการต่างๆของชาวอีสาน โดยเฉพาะคัมภีร์ใบลานเป็นหลักฐานชั้นต้นที่สำคัญที่บันทึกเหตุการณ์และเรื่องราวต่างๆทั้งคดีโลกและคดีธรรม เช่น หลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ โหราศาสตร์ วรรณกรรม พงศาวดาร กฎหมายโบราณ ตำรายา คาถาอาคม ความรู้เหล่านี้จะสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญา วิถีชีวิต ความศรัทธาและความเชื่อของชาวอีสานที่สืบทอดกันมายาวนาน
ดังนั้นเพื่อให้ภูมิปัญญาด้านอักษรธรรมอีสานและภาษาท้องถิ่น ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการไขประตูไปสู่ภูมิปัญญาด้านอื่นๆ ของท้องถิ่นอีสาน ที่บรรพบุรษได้บันทึกไว้ในเอกสารโบราณ ได้รับการศึกษา เรียนรู้ อนุรักษ์ และถ่ายทอดสืบสานต่อไป ผู้เขียนจึงได้จัดทำแบบเรียนอักษรธรรมขึ้น เพื่อให้พระภิกษุ สามเณร นิสิต นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจทั่วไปได้เรียน อ่านเขียนอักษรธรรมอีสาน เพื่อให้ลูกหลานชาวอีสานใช้เป็นกุญแจที่จะศึกษาคลังภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษได้บันทึกไว้ และเพื่อให้ชาวอีสานเกิดความภาคภูมิใจในมรดกทางภูมิปัญญาของตน เกิดความรักความหวงแหน ร่วมอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษให้คงอยู่สืบต่อไป เนื้อหาประกอบด้วย 13 หน่วย โดยในแต่ละหน่วยจะมีเนื้อหาให้ความรู้ และแบบฝึกทบทวนความรู้ ดังนี้
หน่วยที่ 1 ตัวอักษรโบราณและเอกสารโบราณในภาคอีสาน
หน่วยที่ 2 งานอนุรักษ์เอกสารโบราณในภาคอีสานโดยสังเขป
หน่วยที่ 3 ความเป็นมาของอักษรธรรมอีสานโดยสังเขป
หน่วยที่ 4 พยัญชนะอักษรธรรมอีสาน
หน่วยที่ 5 สระอักษรธรรมอีสาน
หน่วยที่ 6 พยัญชนะประสม
หน่วยที่ 7 การประสมคำ
หน่วยที่ 8 เครื่องหมาย วรรณยุกต์ และตัวเลข
หน่วยที่ 9 อักขรวิธีพิเศษ
หน่วยที่ 10 การเขียนภาษาบาลี พยัญชนะ สระ การสังโยค
หน่วยที่ 11 แบบฝึกอ่านผญา คติธรรมคำสอน
หน่วยที่ 12 แบบฝึกอ่านนิทานพื้นบ้านอีสาน
หน่วยที่ 13 แบบฝึกอ่านอักษรธรรมอีสานจากเอกสารใบลาน
Post by Pornpimol Manochai