ฮูปแต้ม (จิตรกรรมฝาผนัง) : วัดป่าเลไลย์ มหาสารคาม
ฮูปแต้ม (จิตรกรรมฝาผนัง) : วัดป่าเลไลย์ มหาสารคาม
ความเป็นมาของ ฮูปแต้ม (จิตรกรรมฝาผนัง) วัดป่าเลไลย์
วัดป่าเลไลย์ ตั้งอยู่ที่บ้านหนอกพอก ตำบลดงบัง อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม สร้างขึ้นราวปี พ.ศ.2224
ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ.2460 วัดแห่งนี้เดิมมีชื่อว่า วัดบ้านหนองพอก ต่อมาในปี พ.ศ. 2485 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดป่าเลไลย์ ภายในวัดมีสิมซึ่งไม่ปรากฎหลักฐานว่าสร้างในสมัยใด ตัวสิมเป็นอาคารแบบก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลียมผืนผ้าแบบทึบ นับเป็นสิมพื้นบ้านบริสุทธิ์ที่มีลักษณ์เฉพาะ มีเสารับปีนก หลังคาทรงจั่วชั้นเดียว มีปีกนกคลุมโดยรอบ หน้าบันทำเรียบมีซานจั่ว ตัวสิมยกสูงจากฐาน บนฐานมีระเบียงล้อมรอบ ทางขึ้นเป็นบันไดนาค ศิลปะพื้นบ้านแบบอีสาน มีประตูทางเข้าหนึ่งช่องอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ผนังด้านข้างเจาะเป็นช่องหน้าต่างแคบ ๆ เป็นช่องแสง ข้างละ 2 ช่อง ไม่มีบานหน้าต่าง บนฝาผนังมีภาพเขียนทั้งด้านนอกและด้านใน
สิมวัดป่าเลไลย์ ตั้งอยู่ ท้องที่บ้านหนอกพอก ตำบลดงบัง อำเภอนาดูน สร้างขึ้นในปี พ.ศ 2430- 2460 ใช้เวลาสร้างอยู่ 6 ปี จึงสำเร็จ ช่างที่มาทำการก่อสร้างสิมวัดปาเลไลย์ มาจากสุวรรณภูมิ เป็นคนญวน ผู้ริเริ่มในการสร้างสิมวัดป่าเลไลย์ คือ พระครูจันทร์ศรี ตะละคุณ ซึ่งท่านเป็นเจ้าอาวาสของวัดป่าเลไลย์ในขณะนั้น และหลวงปูจันทร์ดี จันทร์ทาโพธิ์ ร่วมกับชาวบ้านทั้งใน อำเภอนาดูน อำเภอพยัคฆภูมิพิสัยและอำเภอปทุมรัตน์
การสร้างสิมของวัดป่าเลไลย์ในครั้งนี้มีชาวบ้านอาสามาช่วยทำเป็นจำนวนมากโดยผู้ชายจะทำหน้าที่หาไม้ทำเป็นเสา ทำคอเสาทำเป็นจันทัน ไม้แป ไม้ปั่นลม ไม้ระแนง ไม้มุงหลังคา ส่วนผู้หญิงทำหน้าที่ช่วยกันหาดินเหนียวมาเพื่อทำเป็นอิฐ ดินเหนียวจะเอามาจากนาเริง ซึ่งเป็นนาของชาวบ้าน แล้วเอามาหมักหรือแช่น้ำให้ดินเหนียวอ่อน ส่วนประสมน้ำทำเป็นก้อนอิฐชาวบ้านใช้หนังควายแห้งหนังวัวแห้งและน้ำอ้อย นำไปต้มจนให้ส่วนผสมเข้ากันจนเหนียว แล้วนวดให้เข้ากันเพื่อเตรียมในการทำเป็นอิฐ ส่วนปูนชาวบ้านจะเอาเปลือกหอยกาบ จะเอามาจากแม่น้ำมูล อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ชาวบ้านก็จะใช้เกวียนหรือล้อมาขนหอยกาบและทราย จะเอามาจากบ้านอ้อตะหลิ่งชัน ซึ่งเป็นทรายแม่น้ำมูลที่ดี ชาวบ้านก็จะช่วยกันขนมาที่วัดปาเลไลย์เพื่อที่จะเป็นส่วนผสมในการทำสิม ไม้ที่เอามาทำสิมจะ เป็น ไม้จิก ไม้เต็งรัง ไม้พะยอม ไม้ตะเคียน ไม้มันปลา ไม้มันเปา ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งทั้งหมด เมื่อสร้างสิมเสร็จแล้วก็ให้ช่างผู้มีฝีมือดี คือ นายสิงห์ วงศ์วาด นายจำปา วงศ์วาด นายชารี วงศ์วาด ทั้งสามคนเป็นพี่น้องกันซึ่งล้วนแล้วมีฝีมือดีทุกคนเป็นชาวบ้านบ้านคลองจอบ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม
สีที่ใช้เขียนคือสีฝุ่นวรรณะสีเย็น ได้แก่ สีน้ำตาล เขียว คราม น้ำเงิน และสีดำ ผลงานส่วนใหญ่จะลงพื้นด้วยสีน้ำตาลอ่อนแล้วจึงร่างภาพระบายสีตัดเส้นเพื่อเกิดความ สมบูรณ์ ตำแหน่งและเรื่องราวของภาพ การแบ่งเรื่องราวของภาพและลำดับเรื่องราวค่อนข้างชัดเจน การเขียนจะเริ่มต้นจากขวาไปซ้าย จากล่างขึ้นบน โดยใช้เส้นสินเทา สภาพธรรมชาติและสิ่งก่อสร้างเป็นตัวกั้นเรื่อง ตำแหน่งภาพเขียนจะเขียนไว้ทั้งด้านนอกและด้านในของผนังทั้ง 4 ด้าน เรื่องราวที่ปรากฏบนผนังสิมของวัดป่าเลไลย์จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มเรื่องราวคือเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาและเรื่องราวจากวรรณกรรม
ผนังสกัดด้านหน้าของสิม (ทิศตะวันออก) ภาพเขียนที่ปรากฏในผนังด้านนี้เป็นเรื่องราวของพระลัก พระลาม หรือรามเกียรติ์ โดยมีการนำเสนอเรื่องราวเป็นกลุ่มๆ โดยมีตอนที่สำคัญ เช่น ศึกทรพี-ทรพา พระลัก-พระลามออกจากเมืองไปพบฤาษีที่ศาลา พระลามพานางสีดากลับเมืองระหว่างทางพบกวางทอง ท้าวราพ์ชวนนางสีดาออกจากที่พัก นางสีดาไม่ยอมจึงอุ้มนางไป จากนั้นท้าวราพณ์พบนกสดายุ พระลักพระลามพบต้นนิโครธ พระลามกินผลนิโครธแล้วกลายเป็นลิง ด้านซ้ายสุดของผนังเป็นเรื่องพระลักพระลามเช่นกัน แต่เป็นตอนพานางสีดากลับเมือง
ผนังสกัดด้านข้างของตัวสิม (ทิศเหนือ) ภาพเขียนที่ปรากฏในผนังด้านนี้ยังคงเป็นเรื่องพระลัก พระลาม เป็นภาพกองทัพยักษ์ และตอนพระลัก พระลามและหลุละมานรบกับท้าวราพณาสวร
ผนังสกัดด้านหลังของตัวสิม (ทิศตะวันตก) ภาพเขียนที่ปรากฏในผนังด้านนี้นั้น เป็นเรื่องราวพระเวสสันดรชาดก มีเรื่องราวตอนชูชกขอกัณหาและชาลี กับพระเวสสันดร และเป็นภาพขบวนแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง
ผนังสกัดด้านข้างของตัวสิม (ทิศใต้) ภาพเขียนที่ปรากฏในผนังด้านนี้เป็นเรื่องพระเวสสันดรชาดก ตอนพระเวสสันดรประทานช้างและพระราชรถให้กับพราหมณ์และกัณฑ์ชูชก ส่วนภาพเขียนที่ปรากฏภายในผนังด้านในของสิมนี้ เรื่องราวส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวทางด้านพุทธประวัติ และพระมาลัย โดยมีรายละเอียดในผนังแต่ละด้านดังนี้
ผนังสกัดด้านในของสิม (ทิศตะวันออก) ภาพเขียนที่ปรากฏในผนังด้านนี้เป็นภาพพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ และพระมาลัยโปรดสัตว์ที่นรกภูมิ
ผนังสกัดด้านข้างของสิม (ทิศใต้) ภาพเขียนที่ปรากฏในผนังด้านนี้แบ่งเป็นสามช่วงเสา เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติทั้งสิ้น โดยเริ่มตั้งแต่ตอนมารผจญพระแม่ธรณีบีบมวยผม ช่วงที่สองเป็นตอนถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้า ด้านล่างเป็นภาพอดีตพระพุทธเจ้านั่งสลับกับแจกันดอกไม้ ช่วงที่สามเป็นภาพพระพุทธเจ้ากำลังบิณฑบาต ด้านล่างเป็นภาพอดีตพระพุทธเจ้านั่งสลับกับแจกันดอกไม้เช่นกัน
ผนังสกัดด้านใน (ทิศตะวันตก) ภาพเขียนที่ปรากฏในส่วนนี้พระพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ด้านล่างเป็นภาพอดีตพระพุทธเจ้านั่งสลับกับเทวดา
ผนังสกัดด้านข้างภายในสิม (ทิศเหนือ) ภาพเขียนที่ปรากฏในผนังด้านนี้แบ่งเป็นสามช่วงเสาเช่นกัน เป็นเรื่องราวของพระมาลัย ตอนพระมาลัยเสด็จไปโปรดสวรรค์ และบนโลกมนุษย์เพื่อโปรดสัตว์
ความโดดเด่นของสิมวัดป่าเลไลย์
จุดเด่นของสิมหลังนี้ คือ ฮูปแต้มที่มีฝีมืองดงามมาก สิมวัดป่าเลไลย์ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 10 ตอนที่ 217 วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2536 กำหนดขอบเขต 1 ไร่3 งาน 60 ตารางวา สภาพทั่วไปของอาคารศาสนสถาน สิมวัดป่าเลไลย์ เป็นอาคารแบบพื้นบ้านบริสุทธิ์ สร้างด้วยอิฐถือปูน ตั้งอยู่บนฐานมีระเบียงล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง มีเสาไม้สี่เหลี่ยมรองรับชายคาปีกนกที่ยื่นต่ออกมาจากหลังคาเพื่อกันไม่ให้ภาพวาดถูกฝนถูกอากาศมากเกินไป ราวบันไดปั้นเป็นรูปนาค ศิลปะพื้นบ้านแบบอีสาน มีประตูทางเข้าหนึ่งช่องอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ผนังด้านข้างเจาะเป็นช่องหน้าต่างแคบ ๆ เป็นช่องแสงข้างละ 2 ช่อง ไม่มีบานหน้าต่าง บนฝาผนังมีภาพเขียนทั้งด้านนอกและด้านใน ด้านนอกเป็นฮูปแต้มเรื่องรามเกียรติ์และพระเวลสันดรชาดก
ผนังด้านใน เป็นพุทธประวัติ พระมาลัย และอดีตพระพุทธเจ้า
ผนังด้านนอกเขียนเรื่องพระลัก-พระลาม และพระเวสสันดรชาดก ใช้สีฝุ่นโทนสีหรือวรรณะสีเย็นลงสีพื้นด้วยสีน้ำตาลอ่อนแล้วจึงร่างเขียนภาพ การแบ่งกลุ่มภาพใช้แนวเส้นขนานลายเส้นพื้นดิน ลวดลายต่างๆ และแนวกำแพง มีการใช้ต้นไม้เป็นตัวแบ่งภาพเป็นตอนๆ การลำดับภาพผนังด้านนอกเริ่มที่ด้านทิศเหนือ เป็นภาพเรื่องพระลัก-พระลาม ดูภาพตามเข็มนาฬิกาหรือเวียนขวา ต่อเนื่องมาที่ผนังด้านหน้าทางทิศตะวันออก จบเรื่องพระลัก-พระลามที่ด้านนี้ ส่วนผนังด้านทิศใต้ เริ่มเรื่องพระเวสสันดรชาดก ดูเวียนขวาไปถึงผนังด้านทิศตะวันตก จบลงด้วยภาพตอนนครกัณฑ์
ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังของวัดป่าเลไลย์ จะสร้างขึ้นมานานแล้ว แต่ภาพบนฝาผนังสิมยังคงสภาพที่สดใส งดงาม เหมือนเดิมรอให้ผู้ที่สนใจไปอิ่มเอม โดยเฉพาะการแต่งกายแบบพื้นเมืองของอีสานที่ปรากฏในภาพวาดฝาผนังวัดป่าเลไลย์ แห่งนี้
ในปัจจุบันชาวบ้านโดยรอบวัดป่าเลไลย์แห่งนี้ ยังคงสืบสานการเป็นศาสนสถานที่เป็นมรดกจากบรรพบุรุษ โดยในวันออกพรรษา ที่เวียนมาบรรจบในทุก ๆ ชาวบ้านทั้งผู้ใหญ่เด็ก จะรวมตัวกันบริเวณลานสิมที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอยู่เพื่อร่วมกันทำกิจกรรม คือ สวดมนต์ และเตรียมของหวานอาหารแห้งรอพระสงฆ์ออกมาจากสิมที่จำพรรษาเพื่อที่จะร่วมกันทำบุญตักบาตร
ดวงเดือน ไชยโสดา…post
เอกสารอ้างอิง
คณะทำงานคัดสรรของดีเมืองมหาสารคาม. (2558). คัดสรรของดีเมืองมหาสารคาม : 150 ปี . คณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ประเทศ ปัจจังคะตา. (2541) จิตรกรรมฝาผนังสิมวัดป่าเรไรย์ บ้านหนองพอก ตำบลดงบัง อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม. [วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต]. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.