กฎหมายโบราณ จากเอกสารโบราณในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

กฎหมายโบราณ จากเอกสารโบราณในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

       หนังสือกฎหมายโบราณ จากเอกสารโบราณในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ปริวรรต รวบรวม และเรียบเรียงโดย นายชวนากร จันนาเวช กลุ่มงานอนุรักษ์เอกสารโบราณ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ทำการสำรวจและปริวรรตเอกสารโบราณจำนวนทั้งสิ้น 18 ฉบับ เพื่อศึกษาคุณค่า ด้านภาษา และประวัติศาสตร์การเมืองการปกครอง ที่เข้ามามีบทบาทในท้องถิ่นภาคอีสาน เป็นการรวบรวมกฎหมายโบราณอีสาน จารีตในแต่ละท้องถิ่นและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภูมิภาคอีสาน ศึกษาถึงข้อบังคับที่เกิดจากความเชื่อ จารีต และประเพณีที่มีมาแต่ดั้งเดิมของภูมิภาคท้องถิ่น และกฏข้อบังคับที่ตราขึ้นโดยการปกครองจากส่วนกลาง รวมถึงศึกษาลักษณะของการกระทำความผิด ระดับของความผิด การพิจารณาคดี บทลงโทษผู้ฝ่าฝืน หรือผู้กระทำความผิด ข้อบังคับ ข้อปฏิบัติ และบทลงโทษผู้ปกครอง หรือผู้พิจารณาคดี ระดับของโทษที่ต้องรับทั้งในลักษณะเทียบเคียงทั้งทางอาญาและทางแพ่ง

        นำเสนอเนื้อหาโดยการจัดกลุ่มเอกสารกฏหมายโบราณ เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 กลุ่มกฏหมายที่ระบุว่าเป็น “หลักคำ” และกลุ่มที่ 2 กลุ่มกฏหมายอาณาจักร-ธรรมจักร  ธรรมศาสตร์ ราชศาสตร์ สร้อยสาคำ  โพสะราช และกฎหมายที่รับมาจากประมวลกฎหมายตราสามดวง  รายละเอียดดังนี้

        กลุ่มที่ 1 กลุ่มกฏหมายที่ระบุว่าเป็น “หลักคำ” จำนวน 9 ฉบับ ดังนี้

  • หลักคำเมืองร้อยเอ็ด (1) ฉบับวัดท่าม่วง ต.ท่าม่วง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด
  • หลักคำเมืองร้อยเอ็ด (2) ฉบับบ้านโพนงาม ต.โพนงาม อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม
  • หลักคำเมืองร้อยเอ็ด (3) ฉบับวัดพรหมประสิทธิ์ ต.นาสีนวน อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม
  • อาณาจักรหลักคำเมืองสุวรรณภูมิ ฉบับสำเนารูปภาพหอสมุดแห่งชาติ
  • หลักคำเมืองกาฬสินธุ์ ฉบับวัดเกสรเจริญผล ต.มะค่า อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม
  • หลักคำเมืองภูเขียว ฉบับวัดบัวบาน ต.กวางโจน อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ
  • อาณาจักรหลักไชยพระไชยเชษฐาธิราช ฉบับวัดโพนทัน บ้านโพนทัน ต.โพนทัน อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร
  • หลักคำเมืองสกลนคร ฉบับวัดศรีแก้ว ต.ศรีแก้ว อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร
  • กฎหมายโบราณ (หลักคำ) ฉบับวัดโพธิ์ศรีสว่าง ต.ยางตลาด อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์

         กลุ่มที่ 2 ประมวลกฏหมายโบราณ จำนวน 9 ฉบับ ดังนี้

  • อาณาจักรธรรมจักรหลักไชย ฉบับโครงการอนุรักษ์ใบลานฯ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  • อาณาจักรธรรมศาสตร์-ราชศาสตร์-สร้อยสายคำ สำเนารูปภาพจากหอสมุดแห่งชาติ
  • คัมภีร์พระธรรมศาสตร์เมืองขอนแก่น ฉบับวัดดาวดึงส์ อ.แกดำ จ.มหาสารคาม
  • สร้อยสายคำ ฉบับวัดกลางมิ่งเมือง สำเนารูปภาพจากหอสมุดแห่งชาติ
  • คัมภีร์โพสะราช ฉบับวัดพรหมประสิทธิ์ ต.นาสีนวน อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคามล
  • ธรรมศาสตร์-ราชศาสตร์ ฉบับวัดฟ้าหยาด อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร
  • พระธรรมนูญ ฉบับวัดโพธิ์ศรีสว่าง ต.ยางตลาด อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์
  • พระธรรมศาสตร์ ฉบับวัดศรีสะอาด บ.เก่า ต.นาหอ อ. ด่านซ้าย จ.เลย
  • พระอัยการ วัดศรีชมชื่น บ.คกเลาใต้ ต.บุฮม อ.เชียงคาน จ.เลย

จากการศึกษาวรรณกรรมกฎหมายโบราณ พบว่ามีความสัมพันธ์กับการจัดระเบียบสังคมอีสานในอดีต ดังนี้

1) พระพุทธศาสนามีอิทธิพลต่อการกำหนดข้อบังคับทั้งต่อฝ่ายอาณาจักรและธรรมจักร

2) ด้านการปกครอง พบว่าการตรากฎหมายข้อบังคับยังไม่ครอบคลุมกับชนชั้นปกครองทุกกลุ่ม

3) ด้านสังคมวัฒนธรรม พบว่า หลักคำเมืองภูเขียว มีความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนต่างชุมชนต่างเชื้อชาติ

4) ด้านเกษตรกรรมและเศรษฐกิจ พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องที่คล้าย ใกล้เคียงกัน การปรับไหมเกี่ยวกับการละเมิดสัตว์เลี้ยง เกิดขึ้นเหมือนกัน แต่ราคาค่าปรับแตกต่างกันตามยุคสมัยค่าเงินตรา

5) ด้านจิตสำนึกร่วมกันในชุมชน พบว่าฉบับที่ปรากฎข้อบังคับชัดเจนที่สุดคือ หลักคำเมืองภูเขียว

6) ด้านครอบครัวและการครองตนของสตรี พบว่าปรากฎในหลายฉบับทั้งการประพฤติตน ข้อบังคับ การปรับไหม แสดงให้เห็นว่าในระบบการควบคุมทางสังคม  ย่อมให้เกียรติผู้มียศสูงกว่า หรืออาวุโสมากกว่า

 

Post By   Pornpimol Manochai