ลักษณะของฮูปแต้ม
ลักษณะของฮูปแต้ม
ฮูปแต้ม หรือจิตรกรรมฝาผนัง ที่ปรากฏบนผนังของสิมซึ่งเป็นชื่อเรียกศาสนาคารของคนอีสาน
- มีการเขียนฮูปแต้มทั้งด้านในและด้านนอกสิม บางแห่งมีทั้งสองด้าน บางแห่งมีเพียงด้านเดียว ส่วนเรื่องราวของฮูปแต้ม และตำแหน่งของผนังที่วาดนั้นไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ส่วนมากเป็นเรื่องพุทธประวัติ ทศชาดกเวสสันดร อดีตพระพุทธเจ้า พระมาลัย นิทานพื้นบ้านเรื่องต่างๆ และมีวิถีชีวิตของชาวบ้านเป็นเกร็ดย่อยแทรกอยู่ในภาพที่เป็นเรื่องหลัก การวางเรื่องราวอาจไม่เป็นไปตามลำดับเหตุการณ์
2. การแบ่งพื้นที่ในการวาด สำหรับพื้นที่ใหญ่ๆ เช่น ผนังรีทั้งด้านในและด้านนอกที่ไม่ติดเสา มักจะแบ่งโดยใช้เส้นหนาทึบเป็นเส้นแบ่ง บางภาพจะใช้เส้นแบ่งนี้เป็นพื้นดินหรือภูเขาไปในตัว ไม่ใช้เส้นสินเทาอย่างรูปวาดของช่างหลวง การวางเรื่องราวขึ้นอยู่กับโครงสร้างของสิม
3. ฮูปแต้มมีลักษณะเป็นสองมิติ แบนเรียบ การแสดงระยะใกล้ไกลของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มักจะแสดงด้วยการวางรูปให้คาบเกี่ยวกัน บังกัน ซ้อนกัน มีการสร้างบรรยากาศด้วยสีสันน้อยมาก เพราะขาดแคลนสี ช่างแต้มอาศัยเส้นหนา เส้นบาง เน้นระยะ เน้นเรื่องราว และเน้นบรรยากาศ เช่น บริเวณที่ต้องการให้ดูยุ่งเหยิงวุ่นวาย อาจขีดเส้นสั้นๆ ถี่ๆ ฮูปแต้มจะมีแต่เส้นและสี ไม่มีแสงเงา และไม่มีการเกลี่ยสีให้น้ำหนักแตกต่างกัน
4. ในการแสดงจุดเด่น หรือ ส่วนสำคัญของเรื่องราวหรือรูป ช่างแต้มมักจะใช้ขนาดหรือสัดส่วนรูปเน้นให้เกิดความน่าสนใจมากกว่าการใช้สีเน้น เช่น ใช้รูปขนาดใหญ่เน้นความสนใจ ขนาดและรูปร่างของรูปจึงมีความสำคัญมากกว่าสี เพราะ ช่างมีสีใช้น้อย โครงสร้างของสิมจะเป็นตัวกำหนดพื้นที่ในการวาด ช่างแต้มวาดฮูปแต้มเล่าเรื่องราวหลายๆเรื่องรวมกันบนฝาผนัง เราจึงเห็นขนาดของรูปใหญ่บ้างเล็กบ้างสลับกันไป แตกต่างจากภาพวาดของชาติตะวันตกที่วาดบนกรอบผ้าใบซึ่งมีขอบเขตของพื้นที่แน่นอน จึงมีจุดเด่นเพียงจุดเดียวชัดเจน
5. ขนาดและสัดส่วนของรูปที่ไม่เป็นไปตามความจริง เมื่อดูฮูปแต้มบนผนัง จะเห็นรูปบุคคลเต็มช่องหน้าต่าง หรือเห็นรูปบุคคลมีขนาดเกือบเท่ารูปอาคารบ้านเรือน คือ ถ้าให้คนนั้นยืนขึ้นหัวก็คงชนเพดานพอดี และสัดส่วนรูปทรงของคนก็ไม่เป็นไปความจริง หากเอาเกณฑ์การวาดรูปแบบตะวันตกมาเป็นกรอบ ก็อาจรู้สึกว่าช่างแต้มวาดรูปเหมือนเด็กวาด ความคิดเช่นนี้จะปิดกั้นการเข้าถึงความงามที่ง่าย ใสซื่อ และจริงใจ อันเป็นลักษณะเด่นของศิลปะพื้นบ้าน
6. รูปบุคคลในเรื่องราวต่างๆ นั้นจะคล้ายกัน และคล้ายกับรูปวาดไทยประเพณี รูปผู้หญิงเขียนหน้าตรง ผู้ชายเขียนหน้าด้านข้าง บุคคลชั้นสูง เช่น พระพุทธเจ้า กษัตริย์ เทวดา มักเขียนประณีต มีเครื่องทรงบอกฐานะ แต่ลวดลายตกแต่งเครื่องทรงนั้นช่างใช้แม่แบบลายไทยเขียนเพียงเล็กน้อย ซึ่งจะแตกต่างจากรูปวาดของช่างหลวง ที่มักจะใช้แม่แบบลายไทยประกอบอย่างหรูหรา วิจิตร ขุนนาง ชาวบ้าน ส่วนใหญ่แต่งกายเลียนแบบของจริง สำหรับรูปสัตว์นั้นมีทั้งสัตว์ที่พบเห็นในท้องถิ่น และสัตว์ที่เป็นอุดมคติ เช่น สัตว์หิมพานต์ รูปอาคารบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นปราสาทราชมนเทียร ศาลา บ้านเรือน วิมาน จะเขียนรูปพระราชวังขนาดใหญ่ หลังคาหลายชั้น ตกแต่งด้วยม่าน แต่บางแห่งก็มีลักษณะเหมือนบ้านในภาคอีสาน ส่วนภูมิประเทศ ได้แก่ เมฆ ต้นไม้ ภูเขา พื้นดิน แม่น้ำ ช่างมีอิสระในการวาดมาก ไม่เคร่งครัดที่จะเขียนแบบเดียวกันตลอด
7. ท่าทางต่างๆ ของรูปบุคคลมีลักษณะแบบละครรำ แต่ลักษณะอย่างนี้มีน้อยกว่ารูปวาดของช่างหลวง ส่วนใหญ่ลีลาท่าทางแบบนี้จะใช้กับบุคคลชั้นสูงที่เป็นกษัตริย์ เทวดา ส่วนขุนนางและชาวบ้านจะวาดท่าทางเหมือนท่าทางในชีวิตประจำวัน นิ้วมือไม่กรีดกราย แต่ส่วนลำตัวยังคงใช้แสดงอารมณ์ หรือ แสดงการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ช่างแต้มเขียนส่วนใบหน้าของชาวบ้านแบบธรรมชาติ ไม่เคร่งครัด จึงมีอิสระและกล้าเขียนให้ดูสนุกสนาน รูปหน้าของชาวบ้านจึงดู “หน้าเป็น”
8. รูปส่วนใหญ่ใช้สีน้อย สีหลักมักจะเป็นสีน้ำเงิน หรือสีคราม สีดำ สีน้ำตาลแดง ช่างแต้มแก้ปัญหาเรื่องมีสีใช้น้อยด้วยการลดน้ำหนักของสีลง และใช้สีเท่าที่มีอยู่มาผสมกันสีที่สดใส เช่น สีเหลือง เขียว ชมพู มักใช้กับรูปที่สำคัญเพื่อเน้นความสนใจ
9. การใช้สี วัสดุอุปกรณ์ของช่าง ส่วนใหญ่ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หาได้จากท้องถิ่น และเรียนรู้วิธีทำอุปกรณ์ต่างๆ ตกทอดกันมา เช่น ทำสีขาวจากเปลือกหอย สีแดงจากดินแดง สีบางสีอาจหาซื้อมา เช่น สีคราม สีเหลือง พู่กันก็ได้จากวัสดุในท้องถิ่น เช่น รากดอกเกด กาบไผ่
เอกสารอ้างอิง
- สุมาลี เอกชนนิยม, ฮูบแต้มในสิมอีสาน งานศิลป์สองฝั่งโขง. ศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ. หน้า 10-12.
- วิโรจน์ ชีวาสุขถาวร , การศึกษาแนวความคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นประเภทสิม ในจังหวัดมหาสาคาม. หน้า 21-35
- ศิริพันธ์ ตาบเพชร, ฮูปแต้มสิมอีสาน จังหวัดมหาสารคาม. เมืองโบราณ. 24(4):117-124; ตุลาคม-ธันวาคม 2541
ดวงเดือน ไชยโสดา…