ภาษาญ้อ

ภาษาญ้อ

ประวัติความเป็นมา

            กลุ่มชาติพันธุ์ญ้อ แต่เดิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากในเมืองหงสาและคำม่วน ซึ่งเป็นดินแดนที่อยู่ในประเทศลาว ต่อมาได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานในเขตประเทศไทย บริเวณพื้นที่ในภาคอีสานและภาคตะวันออกของไทย พบมีกลุ่มชาติพันธุ์ญ้อย้ายมาตั้งถิ่นฐานหลายจังหวัด ได้แก่ จังหวัดหนองคาย อุดรธานี มหาสารคาม สกลนครนครพนม มุกดาหาร ขอนแก่น นครสวรรค์ สระบุรี ปราจีนบุรี และสระแก้ว นอกจากนี้ยังพบว่า มีกลุ่มชาติพันธุ์ญ้ออาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชาได้แก่ จังหวัดบันทายมีชัยและอุดรมีชัย ประเทศกัมพูชาอีกด้วย

ความสำคัญและคุณค่าแห่งมรดกภูมิปัญญา

         กลุ่มชาติพันธุ์ญ้อในประเทศไทย มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับคนไทยในภาคอีสานมาก ประเพณีที่ถือว่าเป็นเอกลักษณะเฉพาะของกลุ่มชาติพันธุ์ญ้อ คือ ประเพณีไหลเรือไฟในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ หรืออกพรรษา เรียกว่า “ไหลเฮือไฟ” นอกจากนี้ ยังมีวัฒนธรรมการละเล่นที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ญ้อ คือ หมากโข่งโหล่ง หมากต่อไก่

หมากนู๋เนียม ปาบึกแล่นมาฮาด หม่อจ้ำหม่อมี และหมากอีหมากอำ การละเล่นแต่ละประเภทจะมีวิธีการเล่นและมีเพลงประกอบการละเล่นด้วย เช่น การละเล่นหม่อจ้ำหม่อมี มีเพลงประกอบว่า จิ้มหม่อมีมาจี่หม่อหม่นหักคอคนเซอหน้านกกด หน้านกกดหน้าลิงหน้าลาย หน้าผีพายหน้ากิกหน้าก่อม หน้ากิก (หน้าสั้น) หน้าก่อม (หน้ากลม) ยอมแยะแตะปีกผึ้งวะ ผึ่งวะ (ซ้ำตั้งแต่ต้นไปเรื่อย ๆ) เป็นต้น

ลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นของภาษาฌ้อ ซึ่งถือว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของภาษาญ้อได้แก่ เสียงสระ เออ ของคำที่ตรงกับเสียงสระ ใ- ของภาษาไทยมาตรฐาน เช่น หัวเจ๋อ = หัวใจ เฮอ = ให้ ผู้เญ่อ = ผู้ใหญ่ ลูกเพ่อหรือลุเพ่อ = ลูกสะใภ้ เส้อ = ใส่ เบ่อ = ใบไม้ เม่อ = ใหม่

เสอ = ใส เตอ = ใต้ เกอ = ใกล้ เญ่อ = ใหญ่ เน้อ = ใน

แม้ว่าปัจจุบันจะมีการใช้ภาษาฌ้อในชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น แต่ผู้ที่พูดภาษาฌ้อเริ่มมีจำนวนลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ

               ในบทความ “ญ้อ” มองผ่านภาษา ตำนาน ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและการละเล่นพื้นบ้าน กล่าวถึง การมองคนญ้อโดยใช้แนวคิดทางด้านภาษา ตำนาน ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และการละเล่นพื้นบ้าน ทำให้ทราบถึงความเป็นอัตลักษณ์หรือลักษณะเฉพาะของชาวญ้อที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านท่าขอนยาง เหตุผลก็คือ การจะทำให้คน ๆ หนึ่งลืมความเป็นตัวตนของตนเองนั้นยาก โดยเฉพาะภาษาและประวัติของตนเอง ดังนั้นการนำสิ่งเหล่านี้มาเป็นแว่นส่องมองคนญ้อจะทำให้เห็นความเป็นญ้อมากยิ่งขึ้น เปรียบเสมือนการนำแว่นแต่ละอย่างมามองส่องให้ตรงกับสายตาตนเอง จะทำให้เห็นชัดมากกว่ามองด้วยตาเปล่า

มองญ้อผ่านภาษา

              “เผอมาหา มาแตเซอ มาเอ็ดแนวเลอ” เสียงเล็ดลอดจากภายในบ้านสองชั้นผสมกับเสียงหมาดุตัวใหญ่สองตัวเห่าคำราม เป็นเสียงของผู้มีอายุดูน่าเกรงขามสำหรับเราผู้ไม่เคยได้พบพูดคุยกัน ความสงสัยอยู่กับความหมายของคำที่ได้ยิน นี่คือภาษาญ้อที่ได้ยินคุณพ่อดำเนิน เนื่องวรรณะ ถามลูกสาวที่เรียกพ่อว่า “มีคนมาหา”

เสียงสระไอ ที่ใช้ในภาษาไทยและอีสาน แต่ญ้อใช้เป็นเสียงสระ เออ

นี่เป็นเอกลักษณ์ที่ชัดเจนของภาษาญ้อ เมื่อมองคนญ้อผ่านภาษา ทำให้เห็นความเป็นญ้อยังคงอยู่ในสถาบันครอบครัวที่ใช้ภาษาสื่อสารกันโดยเฉพาะผู้สูงอายุกับลูกหลานที่อายุเกินยี่สิบปีขึ้นไป ในขณะที่กำลังคิดภูมิใจแทนชาวญ้อนั้น เสียงร้องเรียกลูกด้วยภาษาไทย

มาตรฐานก็เกิดขึ้น “สวัสดีค่ะแม่” “เป็นไงลูก กลับจากโรงเรียนแล้วเหรอ” เสียงลูกสาวอายุประมาณ 12 ปี พูดคำทักทายแม่พร้อมยกมือไหว้ และแม่ก็ตอบด้วยความเอ็นดู เราก็สงสัยว่า บ้านอยู่ติดกันที่คนหลายคนว่าเป็นคนญ้อแต่ทำไมสองแม่ลูกไม่พูดภาษาญ้อ ได้ความอธิบายจากพ่อดำเนินว่า “เด็กนักเรียนเขาไม่พูดภาษาญ้อแล้ว แต่เขาฟังออกอยู่”   จึงทำให้นำไปสนทนากันเพื่อหาสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ภาษาของผู้คนในชุมชน ชาวญ้อบ้านท่าขอนยางคงรักษาการพูดภาษาญ้อกับคนญ้อด้วยกัน แต่เมื่อต้องพูดกับคนอื่นที่ไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์ญ้อ เปลี่ยนพูดเป็นภาษาไทยและภาษาไทยอีสาน ทำให้ผู้อื่นที่มีปฏิสัมพันธ์กับชาวญ้อไม่รู้ว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ญ้อเลย เมื่อศึกษาการพูดภาษาญ้อ ชาวฌ้อท่าขอนยางยังคงพูดจากันด้วยสำเนียงภาษาญ้อกันโดยทั่วไป สำเนียงภาษาฌ้อจะแตกต่างจากภาษาอีสาน (ไทย-ลาว) เป็นต้นว่า เสียงสระ ใ ชาวญ้อจะใช้เสียง สระเออ แทน ในด้านคำศัพท์ ก็ยังมีถ้อยคำที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวญ้อโดยเฉพาะ   แม้ว่าปัจจุบันชาวญ้อจะติดต่อสื่อสารกับผู้คนในหลายกลุ่มภาษาก็ตาม ( บัญญัติ สาลี, 2554)

ตัวอย่างภาษาญ้อ บ้านท่าขอนยาง ที่ฟังดูแล้วสามารถทำความเข้าใจได้ง่าย มีดังนี้

ภาษาญ้อ ภาษาไทยอีสาน ภาษาไทยกลาง
เผอ มา ใผมา ใครมา
เอ็ด แนว เลอ เอ็ด จัง ได๋ ทำอย่างไร
มา แต่ กะ เลอ มา แต ไส มาจากไหน

คำท้ายประโยคที่แสดงเป็นคำถามหลายคำมีความแตกต่างจากภาษาถิ่นอีสานโดยทั่วไป เช่น

ภาษาญ้อ ภาษาไทยอีสาน ภาษาไทยกลาง
เจ้า เป็น เต๋อ/ปะเตอ เจ้า เป็น หญัง คุณเป็นอะไร
เผอ มา เอ็ด ปะ เตอ ไผ มา เอ็ด หญัง ใครมาทำอะไร
เจ้า ไป เสอ เตอ เจ้า ไป ไส คุณไปไหน

จึงจัดได้ว่าภาษาฌ้อเป็นภาษาหนึ่งที่อยู่ในภาวะวิกฤติที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู อนุรักษ์และสืบทอดภาษา

ภาษาญ้อ ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๗

เอกสารอ้างอิง :

มรดกภูมิปัญญาอีสาน. (2562). กลุ่มสงวนรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สถาบันวัฒนธรรมศึกษา กรมส่งเสริมวัฒนธรรม.

 บัญญัติ สาลี. (2554). ฮากเหง้าเผ่าพันธุ์ญ้อบ้านท่าขอนยาง ตำบลท่าขอนยาง : มุมมองด้านภาษาตำนานประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและการละเล่นพื้นบ้านญ้อผ่านงานวิจัยท้องถิ่น. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

ดวงเดือน ไชยโสดดา……