ครกมอง : วัฒนธรรมตำข้าวที่กำลังถูกลืม
ครกกระเดื่อง : ครกมอง
ก่อนที่จะมีโรงสีข้าวนั้น ครกกระเดื่องเป็นเครื่องมือสำคัญในการแปรรูปข้าว เปลือกให้เป็นข้าวสารโดยวิธีการทำข้าว วิธีการทำข้าวแบบเดิมของชาวนาอีสานนั้น เป็นการกะเทาะแยกเอาเปลือกหุ้มจากเมล็ดข้าว เริ่มแรกใช้วิธีการทุบข้าว ต่อมาได้ ทำครกตำข้าวขึ้นสองรูปแบบคือครกซ้อมมือหรือครกมือและครกกระเดื่องหรือครกมอง มีรายละเอียดดังนี้
ครกมือ เป็นครกตำข้าวที่ใช้มือจับสากตำข้าวเปลือก
ส่วนประกอบของครก มือมีดังนี้
1.ตัวครก เป็นท่อนไม้ขนาดใหญ่ ที่มีความยาวประมาณ 80-90
เซนติเมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 50-60 เซนติเมตรเจาะตรงกลางเป็นร่องลึกโดยใช้ขวานฟันเอาแกลบใส่เป็นเชื้อและจุดไฟเผาส่วนกลางของท่อนไม้ เผาเป็นโพรงให้มีขนาดลึกตามต้องการ ขัดภายในให้เกลี้ยงเกลา ตัวครกมี 2 ขนาด คือ ครกขนาดใหญ่ และครกขนาดเล็กทำด้วยไม้เนื้อแข็ง
ครกมือ | ตัวครก เป็นท่อนไม้ขนาดใหญ่ |
2. สาก ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง มีความยาวขนาด 2 เมตร มีลักษณะปลายทั้งสองข้างโค้งมน หัวสากทู่มนใหญ่
ปลายสากมนเรียวเล็ก ตรงกลางกลมกลึงพอดีกับมือกำอย่างหลวม ปลายสากมีไว้ตำข้าว หัวสากมีไว้ตำข้าวซ้อมมือ
ผู้ตำข้าวซ้อมมือนี้ ตำกันเป็นกลุ่มครั้งละ 2-3 คน ผู้ตำข้าวส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน
สาก | สาก | ผู้ตำข้าวซ้อมมือ |
วิธีตำข้าวมีลำดับดังนี้
- นำข้าวที่จะทำไปผึ่งแดดหนึ่งวันเพื่อให้ข้าวแห้งจะบุบเปลือกง่ายขึ้น
- นำข้าวมาเทลงในครกจำนวนพอเหมาะ ใช้คนตำ 2-3 คนมีจังหวะการตำที่ไม่พร้อมกัน
- ใช้เวลาในการตำข้าวนาน จนกว่าจะเหลือข้าวเปลือกจำนวนน้อยที่ปนอยู่ในข้าวสาร แล้วเก็บกากออก
ข้อดีของการตำข้าวด้วยครกมือ | เลือกสถานที่และเคลื่อนย้ายที่ตำได้ตามต้องการเพราะครกมือไม่ได้ฝังลงในดิน
นอกจากนี้ครกมือใช้คนตำจำนวนน้อย ประมาณ 2-3 คน |
ข้อเสียของครกมือคือ | ใช้เวลาการตำนานออกแรงมาก ทำให้เหนื่อยเร็วและได้ข้าวจำนวนน้อย |
การตำข้าวด้วยครกมือนิยมมากเขตอีสานใต้ แถบจังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์ ปัจจุบันผู้นำสากมาเป็นอุปกรณ์ประกอบการละเล่นพื้นเมืองเรียกว่าเรือมอันเร ลักษณะคล้ายกับรำลาวกระทบไม้
ครกกระเดื่องหรือครกมอง ครกกระเดื่อง เป็นเครื่องใช้ที่มีแทบทุกครัวเรือน โดยชาวบ้านนิยมทำไว้ข้างยุ้งข้าวเพื่อความสะดวก โดยมุงหลังคายื่นออกมากันแดดกันฝนเรียกว่า เทิบมองหรือเพิงมอง ถ้าบ้านใต้ถุนสูงจะตั้งครกไว้ที่ใต้ถุนบ้าน ครกกระเดื่องเป็นครกตำข้าวที่มีพัฒนาการสูงกว่าครกมือคือทุ่นแรงมากกว่า ตำข้าวได้ปริมาณมากและเร็วกว่าการตำด้วยครกมือ
ส่วนประกอบของครกกระเดื่องได้แก่
- ตัวครก ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง นิยมใช้ไม้สะแบง ไม้แคน ไม้จิก ไม้แดง ซึ่ง เป็นไม้เนื้อดี ทนทานต่อการฝังดิน ตัวครกทำจากท่อนไม้กลมยาวพอประมาณ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 เมตร เจาะเป็นร่องลึกตรงกลางเหมือนครกทั่ว ๆ ไป โดยใช้ ขวานฟันตรงกลาง เอาแกลบใส่เป็นเชื้อและจุดไฟเผา ถ้ายังไม่ลึกพอก็ใช้ขวานฟัน และเผาต่อจนได้หลุมครกลึกตามต้องการ ขัดภายในให้เรียบร้อยและสวยงาม เหนือจากก้นครกถึงส่วนล่างสุดของไม้ประมาณหนึ่งศอก ฝังลงในดินให้แน่น
2. แม่มองหรือตัวมอง ทำจากไม้เนื้อแข็งทั้งต้นนิยมใช้ไม้สมอไทยเพราะเนื้อแข็ง เหนียวและทนทาน เพื่อไม่ให้หักและแตกง่ายเวลาตอกลิ่มที่หัวแม่มองหรือได้ รับการกระแทกเวลาตำข้าว ตัวมองแบ่งเป็นส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ หัวแม่มองและหางแม่มอง
หัวแม่มอง คือส่วนที่เป็นโคนของต้นไม้เป็นส่วนที่เพิ่มน้ำหนักในการตำข้าว ทำให้เปลือกหุ้มข้าวที่ตำกะเทาะเร็วหรือช้าได้ ถ้าหัวแม่มองสั้นน้ำหนักกระแทกลงน้อยเปลือกข้าวจะกะเทาะช้า ถ้าหัวแม่มองยาวจะทำให้ออกแรงต่ำมากเปลือกข้าวจะกะเทาะเร็ว การเจาะรูทะลุสำหรับใส่สากมอง ควรกะระยะห่างจากหัวแม่มองพอสมควร ไม่สั้นหรือยาวจนเกินไป
หางแม่มอง คือส่วนที่อยู่ปลายของลำต้นและเป็นส่วนที่ใช้เท้าเหยียบเพื่อจะให้แม่มองกระดกขึ้นเวลาตำข้าว หางแม่มองจะบากหรือถากออกเล็กน้อยกันไม่ให้ลื่นดิน บริเวณใต้หางแม่มองจะขุดเป็นหลุมเรียกว่า หลุมแม่มอง ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยให้การตำข้าวได้ผลดี ถ้าไม่มีหลุมแม่มองหางแม่มองจะยกไว้สูง
สากมอง ที่ใช้กับครกมองต้องใช้ให้ถูกกับขั้นตอนข้าว เวลาตำข้าวจะต้องออกแรงมาก
- เสาแม่มองและคานมอง
เสาแม่มอง อยู่ค่อนไปทางหางแม่มอง ประกอบด้วย เสาสองต้นปักดินให้แน่นเสาแม่มองเป็นไม้เนื้อแข็งเหนียวและทนทานเพราะต้องรับแรงเสียดสีจากคานแม่มอง ทั้งรับน้ำหนักแม่มองและสากมอง ถ้าเสาทำจากไม้ไม่ดีจะสึก และพังเร็ว
คานแม่มอง เป็นส่วนของไม้ที่สอดเพื่อยึดตัวมองกับเสาแม่มองอยู่ค่อนไปทางหางแม่มอง ซึ่งบางแห่งนิยมทำสลักเพื่อไม่ให้ตัวมองเลื่อนไปทางใดทางหนึ่ง
คานแม่มอง | คานแม่มอง | เสาแม่มอง |
4. สากมอง สากเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ การตำข้าวจะเสร็จและได้เมล็ดข้าวสวยหรือไม่ขึ้นอยู่กับสาก สากทำจากไม้ที่มีคุณสมบัติเฉพาะคือมีน้ำหนักเหนียว แข็งและมัน ได้แก่ ไม้ค้อและไม้หนามแท่ง ข้าวจะไม่ติดสากหากทำจากไม้ดังกล่าว สากมองมีความยาวประมาณ 60 เซนติเมตรมี 3 ชนิดคือ
สากตำ มีขนาดเล็กเพราะต้องการให้กระแทกถึงก้นครกขณะที่ตำข้าวและข้าวจะกะเทาะเปลือกเร็ว
สากต่าว มีขนาดใหญ่กว่าสากตำใช้ตำข้าว ให้เป็นข้าวกล้องเปลือกข้าวจะออกมากกว่าข้าวตำ
สากซ้อม เป็นสากที่มีขนาดใหญ่ ใช้ตำเพื่อขัดข้าวในชั้นสุดท้าย การใช้สาก 3 ชนิดนั้นใช้ตำข้าวแต่ละขั้นตอนที่แตกต่างกัน ถ้าใช้สากผิดชนิดจะทำให้ข้าวที่ตำนั้นเป็นข้าวหักหรือเมล็ดข้าวไม่สวย
5. ลิ่มแม่มอง ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เหนียวและทนทาน เพราะได้รับแรงกระแทกอยู่ตลอดเวลา ใช้สำหรับตอกเสริมสากเพื่อยึดสากมองกับแม่มองให้แน่น ทุกครั้งที่ตำข้าวผู้ตำจะต้องคอยตอกลิ่มให้แน่นอยู่เสมอ เพราะถ้าลิ่มไม่แน่นจะทำให้สากหลุดจากหัวแม่มองที่เจาะเป็นรูทะลุ อาจกระเด็นออกไปถูกผู้ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ทำให้ได้รับบาดเจ็บหรืออันตรายได้
6. หลักจับ เป็นหลักไม้สำหรับผู้ตำข้าวใช้จับพยุงตัวเวลาตำข้าว
หลักจับมือจะบักคร่อมที่หางแม่มองทำจากไม้ไผ่หรือไม้ที่หาได้ง่ายๆ ในท้องถิ่น
วิธีตำข้าวด้วยครกกระเดื่อง การตำข้าวเป็นงานประจำของสตรีทั้งแม่และลูกสาว อาจทำเวลาเช้าตรู่เมื่อไก่ขันหรือตำเวลากลางคืนก็ได้ การตำข้าวด้วยกรกกระเดื่องจะใช้ผู้ตำ 3-4 คน เหยียบที่หางแม่มองคนละข้าง น้ำหนักเท้าคนตำเมื่อเหยียบที่หางแม่มองจะทำให้หางแม่มองลดต่ำลงไปในหลุมแม่มอง แม่มองจะกระดกขึ้นและยกสากที่หัวแม่มองขึ้นด้วยเมื่อปล่อยเท้าหางแม่มองลดต่ำลงไปในหลุมแม่มอง แม่มองจะกระดกขึ้นและยกสากที่หัวแม่มองขึ้นด้วย เมื่อปล่อยเท้าหางแม่มองจะถูก ยกขึ้น สากมองจะตกลงไปในครกทำให้สากกระทบข้าวเปลือกหลาย ๆ ครั้ง เปลือกข้าวจะกะเทาะออกแยกเป็นเมล็ดข้าวและแกลบการตำข้าวจะได้เมล็ดข้าวสวยหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับจังหวะของการตำข้าวซึ่งมีอยู่สองจังหวะคือ
ตำเป็นบาด คือ จังหวะการตำช้า เป็นจังหวะเนิบ ๆ ทิ้งช่วงช้า ๆ จังหวะการตำข้าวเช่นนี้จะทำให้ข้าวหัก เมล็ดข้าวไม่สวยเพราะจังหวะการกระแทกสากลงที่ครกจะ มีน้ำหนักมากและทิ้งช่วงนาน
ตำสักกะลัน คือ จังหวะการตำเร็ว เป็นช่วงจังหวะถี่ๆ เร็วสม่ำเสมอจะทำให้ได้ข้าวเมล็ดสวย
ขั้นตอนการตำข้าวมีดังนี้
1. ตักข้าวจากยุ้งใส่กระบุงหรือตะกร้าเทลงในครกกระเดื่อง ปริมาณที่ตำแล้วแต่ความต้องการ ส่วนใหญ่ตำสำหรับบริโภควันเดียว
2. สวมสากตำ ตอกลิ่มเสริมสากให้แน่นใช้เวลาทำประมาณ 15-20 นาที การตำตอนนี้เรียกว่า ตำแหลกเปลือก หรือ ตำบุบ ข้าวที่ตำเสร็จแล้ว เรียกว่า ข้าวตำ ตักข้าวตำออกจากครกใส่เชิงร่อน แล้วเทออกจากเขิงใส่กระด้งผัดเรียกว่า ฝัดตำ ส่วนที่ได้จากการผัดเป็นแกลบหรือเปลือกข้าว
3. เปลี่ยนสากตำออกสวมสากต่าวแทน ตอกลิ่มให้แน่นเทข้าวตำที่ฝัดแล้วลงในครก การทำตอนนี้เรียกว่า ตำต่าว ใช้เวลาในการตำมากกว่าครั้งแรกเล็กน้อย ข้าวที่ตำเสร็จแล้วเรียกว่า ข้าวต่าว หรือ ข้าวกล้อง ตักข้าวออกใส่เขิงร่อน ส่วนที่ได้จากการร่อนจะเป็นแกลบละเอียด หรือ รํา เทข้าวที่ร่อนแล้วใส่กระด้งฝัดเรียกว่า ฝัดต่าว
การทิกข้าวและฝัดข้าว |
เปลี่ยนสากต่าวออก สวมสากซ้อมเข้าแทน ตอกลิ่มให้แน่น เท ข้าวต่าว หรือ ข้าวกล้อง ลงในครก ใช้เวลาตำประมาณ 20 นาที จะได้ข้าวซ้อมมือ ซึ่งมีข้าวสารปนกับปลายข้าวหักและข้าวเปลือกเล็กน้อย ใส่เขิงร่อนจะได้ปลายข้าวและรำอ่อน นำข้าวที่ร่อนแล้วไปทิกด้วยกระด้งเรียกว่า ทิกข้าว และฝัดเพื่อแยกข้าวสารออกจากข้าวเปลือก ผู้ทิกข้าวจะต้องอาศัยความชำนาญ เมื่อทิกข้าวแล้วส่วนที่ไม่ต้องการเช่น ข้าวเปลือกหรือปลายข้าวจะรวมอยู่ที่ส่วนปลายของกระด้ง เพื่อสะดวกในการเก็บข้าวเปลือกออกจากข้าวสาร เมื่อฝัดข้าวเสร็จแล้วจะได้ข้าวสารที่มีข้าวเปลือกปนอยู่เล็กเล็กน้อย เรียกว่า กาก ผู้ตำข้าวต้องเก็บกากออกจึงจะได้ข้าวสารที่ต้องการ
วิธีดูแลรักษาครกตำข้าว
ชาวอีสานมีกุศโลบายในการดูแลครกตำข้าวให้สะอาดและมีอายุใช้งานนาน โดยกำหนดแนวปฏิบัติเป็นข้อคะลำหรือข้อห้ามที่สำคัญไว้หลายประการ เช่น
– ถ้าไม่มีข้าวอยู่ในครก ห้ามใช้ไม้ค้ำหัวกระเดื่อง
– ห้ามเหยียบครกเปล่า
– ห้ามสวมรองเท้าตำข้าว
– ห้ามตำครกเปล่าเล่น
– ห้ามนั่งที่หัวแม่มอง
– ห้ามตำข้าวตอนสาย
– ใส่สากแล้วตอกลิ่มให้แน่นทุกครั้ง มิฉะนั้นบรรพบุรุษจะลงโทษ
– ไม่ให้ยืนตรงหัวมอง เทวดาจะผลักลงครก
– ไม่ใช้สากตำไปตำข้าวต่าว เป็นของคะลำ
– ห้ามหยอกล้อกันที่หางกระเดื่อง
– ห้ามตัดไม้ทำครกในเดือนสามเดือนสี่และเดือนเข้าพรรษา
– ห้ามใช้สากตอกลิ่ม
– เมื่อเลิกใช้ครกควรเก็บและยกแม่มองให้สูงขึ้น
แนวปฏิบัติในการรักษาครกตำข้าว คือ อย่าให้ถูกแดดถูกฝนหลังจากใช้แล้ว ครกควรใช้แผ่นสังกะสีหรือกระดังปิดป้องกันสัตว์บางชนิดไม่ให้ตกลงไปในครก ส่วนสากควรเก็บไว้อย่างมิดชิดป้องกันปลวกและมอดเจาะไม้
ดวงเดือน ไชยโสดา ….