ผ้าแพรวา : ราชินีไหมหัตถกรรมผู้ไทกาฬสินธุ์

 

ผ้าแพรวา : ราชินีไหมหัตถกรรมผู้ไทกาฬสินธุ์

ประวัติความเป็นมา

ผ้าแพรวา คือ ผ้าแพรเบี่ยงไหมที่ใช้พาดเบี่ยงคล้ายสไบ มีความกว้างประมาณ ๑ ศอก ยาว ๑ วา จึงเป็นที่มาของชื่อผืนผ้าว่า “ผ้าแพรวา” ซึ่งมีแหล่งผลิตอยู่ที่บ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยช่างทอกลุ่มวัฒนธรรมผู้ไทย

ความสำคัญและคุณค่าแห่งมรดกภูมิปัญญา

กรรมวิธีการทอผ้าแพรวา เป็นกรรมวิธีจกแบบดั้งเดิม โดยใช้ “นิ้วก้อย” จก สอดเส้นไหมสีสันต่าง ๆ สอดแทรกเป็นเส้นพุ่งพิเศษตามจังหวะลวดลายทีละเล็กละน้อย ส่วนการย้อมไหมมักใช้สีธรรมชาติ โดยเฉพาะสีแดงจากครั่งซึ่งใช้เป็นสีพื้น ทอสลับการสร้างลวดลายจกเป็นช่วง ๆ ตลอดทั้งผืน ผ้าแพรวาหนึ่งผืนใช้เวลาทอนานนับเดือน

ความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของผ้าแพรวา คือ ลายหลักเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนเป็นโครงสร้างพื้นฐานในลวดลายผ้า โดยมีลวดลาย ๑๐ – ๑๒ ลายต่อผืน และใช้เส้นไหม ๒ – ๙ สีในการถักทอ ซึ่งลวดลายจะมีความประณีตและเรียบเนียนเป็นเนื้อเดียวกันตลอดทั้ง

ผืนผ้า สำหรับต้นแบบลวดลายดั้งเดิมของผ้าแพรวานั้นได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษที่ปรากฎลายบนผืนผ้าแช่วพื้นสีขาวผืนหนึ่งที่มีขนาดประมาณ ๒๕ x ๓๐ เซนติเมตร ซึ่งอาจจะมีลวดลายมากถึงกว่าร้อยลาย

ผ้าแพรวาแต่เดิมนิยมพื้นสีแดงคล้ำ มีลายจกสีเหลือง สีดำ สีขาว และสีเขียวเข้ม ประกอบด้วยลาย ๓ ส่วน คือ ลายหลัก ลายคั่น และลายช่อเชิงปลาย ผ้าแพรวาผืนหนึ่งประกอบด้วยลวดลายหลายสิบลายไม่ซ้ำกัน ในแต่ละลายมีความหมาย

เกี่ยวข้องกับระบบความเชื่อของชุมชน เช่น ลายนาค สื่อถึงบรรพชน ลายดอกแก้ว สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์และคุณงามความดีของชีวิต นอกจากนี้ สตรีชาวผู้ไทยใช้ผ้าแพรวาพาดเบี่ยงไปร่วมงานในโอกาสพิเศษ เช่น งานบุญบั้งไฟ พิธีกรรมเหยา งานกินดอง (แต่งงาน) หรือเพื่อใช้คลุมไหล่ห่มสไบเฉียง รวมถึงใช้เป็นผ้าโพกหัว โดยในปัจจุบันได้มีการขยายขนาด เพื่อให้สามารถใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น

ผ้าแพรวา ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๗

ดวงเดือน ไชยโสดา…

เอกสารอ้างอิง : มรดกภูมิปัญญาอีสาน. (2562). [กรุงเทพฯ]: กลุ่มสงวนรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สถาบันวัฒนธรรมศึกษา กรมส่งเสริมวัฒนธรรม.