ฮีตสิบสอง : ประเพณีอีสาน 12 เดือน

ฮีตสิบสอง : ประเพณีอีสาน 12 เดือน

ฮีตเดือนอ้าย  บุญเข้ากรรม

ฮีตหนึ่งนั้น  เถิงเมื่อเดือนเจียงเข้ากลายมาแถมถ่าย
  ฝูงหมู่สังฆเจ้ากะเตรียมเข้าอยู่กรรม
  มันหากธรรมเนียมนี้ถือมาตั้งแต่ก่อน
  อย่าได้ละห่วงเว้นเข็ญสิข้องแล่นนำ แท้แหล่ว

บุญเข้ากรรม เป็นกิจกรรมของสงฆ์ เรียกว่า เข้าปริวาสกรรม โดยให้พระภิกษุสงฆ์ที่ต้องอาบัติ (กระทำผิด) สังฆทิเสส ได้สารภาพต่อหน้า คณะสงฆ์เพื่อเป็นการฝึกจิตสำนึกถึงความบกพร่องของตน แล้วปรับตัว ประพฤติตนให้ถูกต้องตามพระวินัยพิธีเข้าปริวาสกรรมกำหนดไว้ 9 ราตรี กำหนดให้พักอยู่ในสถานที่สงบ ไม่มีคนพลุกพล่าน (อาจเป็นบริเวณวัดก็ได้) โดยมีกุฏิชั่วคราวเป็นหลังๆ พระภิกษุสงฆ์เข้าปริวาสกรรมคราวหนึ่งๆ จะมจำนวนเท่าใดก็ตาม แต่ต้องบอกพระภิกษุสงฆ์จำนวน 4 รูปไว้ก่อนว่าตนเอง จะเข้ากรรม และเมื่อถึงเวลาออกกรรมจะมีพระสงฆ์ 20 รูป มารับออกกรรม เรียกว่า สวดอัพภาณ แปลว่า รับกลับเข้าพวก พิธีทำบุญเข้ากรรมไม่ถือว่าเป็นการล้างบาป แต่เป็นการวารณาตนว่าจะไม่กระทำผิดอีกส่วนกิจของชาวพุทธในบุญเข้ากรรมนี้คือการหาข้าวของเครื่องอุปโภค บริโภคถวายพระ เชื่อว่าจะได้บุญมากกว่าการทำบุญตักบาตรทั่วไป

ฮีตเดือนยี่  บุญคูณลาน

ฮีตหนึ่งนั้น  พอแต่เดือนยี่ได้ล้ำล่วงมาเถิง

ให้พากันหาฟืนสู่คนโฮมไว้  อย่าได้ไลคองนี้

มันสิสูญเสียเปล่า ข้าวและของหมู่นั้นสิหายเสี่ยงบ่ยัง

จงให้ฟังคองนี้แนวกลอนเฮาบอก อย่าเอาใด

ดอกแท้เข็นฮ้ายแล่นเถิงเจ้าเอย”

บุญคูณลาน  เป็นการทำบุญขวัญข้าวที่นวดเสร็จและกองไว้แล้วใน   ลานข้าว กำหนดทำในเดือนยี่จะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ได้

มูลเหตุที่จะมีการทำบุญชนิดนี้นั้น เนื่องจาก ผู้ใดทำนาได้ข้าวมากๆ ก่อนหาบหรือขนข้าวมาใส่ยุ้งฉางก็อยากจะทำบุญกุศล เพื่อเป็นสิริมงคลให้เพิ่มความมั่งมี ศรีสุขแก่ตนและครอบครัวสืบไป

เดือนสาม  บุญข้าวจี่

ฮีตหนึ่งนั้น เถิงเมื่อเดือนสามได้จงพากันจี่ข้าวจี่ไปถวายสังฆเจ้าเอาแท้หมู่    บุญกุศลยังสินำค้ำตามเฮามื้อละคาบ หากธรรมเนียมจั่งซี้มันแท้แต่นานให้ทำบุญไปทุกบ้านทุกที่เอาบุญพ่อ เอย   คองหากเคยมีมาแต่ปางปฐมพุ้น อย่าพากันไลถิ่มประเพณีตั้งแต่เก่า  บ้านเมืองเฮาสิเศร้า  ภัยฮ้ายสิแล่นตาม

    บุญข้าวจี่ นิยมทำในราวกลางหรือปลายเดือนสาม ในช่วงเทศกาลวันมาฆบูชา ชาวบ้านจะมาร่วมกันทำบุญตักบาตรในตอนเช้า ตอนค่ำมีการเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ ชาวบ้านจัดเตรียมข้าวจี่แล้วนำไปถวายพระภิกษุสามเณรที่วัด เมื่อพระฉันเสร็จแล้วมีการฟังเทศน์ฉลองข้าวจี่และรับพร

     มูลเหตุที่มีการทำบุญข้าวจี่ ซึ่งเป็นอาหารที่คนยากจนกินเป็นประจำไปถวายพระพุทธเจ้า พลางคิดว่าขนมแป้งข้าวจี่เป็นเพียงขนมของทาสที่ต่ำต้อยพระพุทธองค์คงไม่ฉัน ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงหยั่งรู้จิตใจของนาง จึงทรงฉันแป้งข้าวจี่ต่อหน้านางทำให้เกิดความปีติดีใจ ครั้นตายไปก็จะได้ขึ้นสวรรค์ ชาวอีสานจึงได้แบบอย่างในการทำแป้งข้าวจี่ ทำบุญข้าวจี่ถวายพระมาโดยตลอดจวบจนปัจจุบัน

เดือนสี่  บุญผะเหวด

ฮีตหนึ่ง พอเถิงเดือนสี่ได้ให้เก็บดอกบุปผา

มาลาดวงหอมสู่คนเก็บไว้ อย่าได้ไลหนีเว้น แนวคองตั้งแต่เก่า

ไฟทั้งหลายสิแล่นเข้าเผาบ้านสิเสื่อมสูญ ให้ฝูงซาวเฮาแท้อย่าไลคองตั้งแต่ก่อน

มันสิหมองเศร้าเมืองบ้านสิทุกข์จนแท้แหล่ว

บุญผะเหวด  หรือบุญพระเวสสันดร หรือบุญมหาชาติ คำนี้ออกเสียงว่า  ผะเหวด เป็นสำเนียงของชาวอีสานที่มาจากคำว่า พระเวส ซึ่งหมายถึง  พระเวสสันดร การทำบุญ ผะเหวด เป็นการทำบุญและฟังเทศน์เรื่อง      พระเวสสันดรชาดก หรือเทศน์มหาชาติ ซึ่งมีจำนวน 13 กัณฑ์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระเวสสันดร ผู้ซึ่งบำเพ็ญบารมีอันยิ่งใหญ่ด้วยการให้ทานหรือทานบารมีในชาติสุดท้ายก่อนที่จะมาเสวยชาติและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า    

      บุญผะเหวด เป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ของชาวอีสาน นิยมทำกันทุกหมู่บ้าน ด้วยความเชื่อว่าหากได้ฝังเทศน์มหาชาติทั้ง 13 กัณฑ์จบภายในวันเดียว อานิสงส์จะดลบันดาลให้ไปเกิดในศาสนาของพระศรีอาริยเมตไตรย ซึ่งเป็นยุคแห่งความสุข ความสมบูรณ์ตามพุทธคติที่มีมาแต่ครั้งพุทธกาล

ฮีตเดือนห้า  บุญสงกรานต์ 

ฮีตหนึ่งนั้น เถิงเดือนห้าได้พวกไพร่ซาวเมือง

จงพากันสรงน้ำขัดสีพุทธรูป ให้ทำทุกวัด แท้อย่าไลม้างห่างเสีย

ให้พากันทำแท้ๆ ไผๆ บ่ได้ว่า ทุกทั่วทีปแผ่นหล้าให้ทำแท้สู่คน

จั่งสิสุขยิ่งล้น ทำถืกคำสอน ถือฮีตคองควรถือแต่ปฐมพุ้น

บุญสงกรานต์ หรือบุญสรงน้ำ  เป็นการทำบุญวันขึ้นปีใหม่ของไทย  แต่โบราณ นิยมทำในเดือนห้า เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน ถึง วันที่ 15 เมษายน คำว่า สงกรานต์ เป็นคำสันสกฤต แปลว่าผ่านหรือเคลื่อนย้ายเข้าไป ในที่นี้หมายถึงพระอาทิตย์ผ่านหรือเคลื่อนย้ายเข้าไปในจักรราศรีหนึ่งเป็นเดือนที่เริ่มต้นปีใหม่ การทำบุญสงกรานต์จะมีพิธีสรงน้ำพระพุทธรูป พระสงฆ์ ผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่

นอกจากนี้ชาวบ้านจะทำบุญตักบาตรก่อพระเจดีย์ทรายและ            มีการละเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนานนานตลอดทั้ง 3 วัน