ไหลเรือไฟ : ความเชื่อ พลังศรัทธาต่อสายน้ำที่ยิ่งใหญ่ไทสองฝั่งโขง ในค่ำคืนวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นวันที่ทุกคนรอคอยชมการไหลเรือไฟของชาวสองฝั่งแม่น้ำโขงนครพนม และเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อบูชาพระแม่คงคา และบูชารอยพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งอดีตจากจินตนาการของศิลปินเรือไฟพื้นบ้านสู่ลำไม้ไผ่หลายร้อยลำมาสร้างเป็นเรือไฟ หลอมศรัทธา และพลังใจผู้คนสองฟากฝั่งสืบสานประเพณีอันดีงามให้คงอยู่ตลอดไปประเพณีไหลเรือไฟจากอดีตถึงปัจจุบัน มีการพัฒนารูปแบบการสร้างผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ บ้างก็เฉลิมฉลองด้วยพลุดอกไม้ไฟวิจิตรตระการตา นับเป็นศิลปะการออกแบบก่อสร้างจากแรงงานในท้องถิ่น และเป็นความภาคภูมิใจในการสืบสานประเพณีของท้องถิ่นมาถึงปัจจุบันชาวอีสานมีความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีไหลเรือไฟอยู่ ๓ แนว คือ ความเชื่อเกี่ยวกับการบูชารอยพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งพญานาคทูลอาราธนาพระพุทธองค์ไปแสดงธรรมในโลกพิภพ ครั้งจะเสด็จกลับพญานาคได้ทูลขอให้พระองค์ประทับรอยพระบาทไว้ ณ ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที ในแคว้นทักขิณาบท ประเทศอินเดีย (ปัจจุบันเรียกว่าแม่น้ำเนรพุททา) ไว้เป็นที่เคารพของเทวดา มนุษย์ตลอดจนสัตว์ทั้งปวง ความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาพระพุทธเจ้าเมื่อเสด็จกลับลงสู่โลกมนุษย์ ภายหลังเสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่สรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระมารดา จึงเสด็จกลับลงมาสู่โลกมนุษย์ผ่านบันไดทิพย์ ๓ ทาง คือบันไดทองเบื้องขวา เป็นที่ลงของเหล่าเทพยดา บันไดเงินเบื้องซ้ายเป็นทางลงของหมู่พรหม
…