ไหลเรือไฟ : ความเชื่อ พลังศรัทธาต่อสายน้ำที่ยิ่งใหญ่ไทสองฝั่งโขง

 

ไหลเรือไฟ : ความเชื่อ พลังศรัทธาต่อสายน้ำที่ยิ่งใหญ่ไทสองฝั่งโขง

ในค่ำคืนวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นวันที่ทุกคนรอคอยชมการไหลเรือไฟของชาวสองฝั่งแม่น้ำโขงนครพนม และเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อบูชาพระแม่คงคา และบูชารอยพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งอดีตจากจินตนาการของศิลปินเรือไฟพื้นบ้านสู่ลำไม้ไผ่หลายร้อยลำมาสร้างเป็นเรือไฟ หลอมศรัทธา และพลังใจผู้คนสองฟากฝั่งสืบสานประเพณีอันดีงามให้คงอยู่ตลอดไปประเพณีไหลเรือไฟจากอดีตถึงปัจจุบัน มีการพัฒนารูปแบบการสร้างผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ บ้างก็เฉลิมฉลองด้วยพลุดอกไม้ไฟวิจิตรตระการตา นับเป็นศิลปะการออกแบบก่อสร้างจากแรงงานในท้องถิ่น และเป็นความภาคภูมิใจในการสืบสานประเพณีของท้องถิ่นมาถึงปัจจุบันชาวอีสานมีความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีไหลเรือไฟอยู่ ๓ แนว คือ

ความเชื่อเกี่ยวกับการบูชารอยพระพุทธเจ้า 

เมื่อครั้งพญานาคทูลอาราธนาพระพุทธองค์ไปแสดงธรรมในโลกพิภพ ครั้งจะเสด็จกลับพญานาคได้ทูลขอให้พระองค์ประทับรอยพระบาทไว้ ณ ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที ในแคว้นทักขิณาบท ประเทศอินเดีย (ปัจจุบันเรียกว่าแม่น้ำเนรพุททา) ไว้เป็นที่เคารพของเทวดา มนุษย์ตลอดจนสัตว์ทั้งปวง

 

ความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาพระพุทธเจ้าเมื่อเสด็จกลับลงสู่โลกมนุษย์ ภายหลังเสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่สรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระมารดา จึงเสด็จกลับลงมาสู่โลกมนุษย์ผ่านบันไดทิพย์ ๓ ทาง คือบันไดทองเบื้องขวา เป็นที่ลงของเหล่าเทพยดา บันไดเงินเบื้องซ้ายเป็นทางลงของหมู่พรหม และบันไดแก้วตรงกลางเป็นทางเสด็จของพระพุทธเจ้า เป็นวันพระเจ้าเปิดโลก โดยทอดพระเนตรไปเบื้องบนถึงพรหมโลก เบื้องต่ำถึงอเวจีนรก ทำให้ทิศทางต่างๆ ทั้ง ๘ ทิศ ในโลกธาตุแห่งหมื่นจักรวาลและเห็นเป็นลานอันเดียวกัน

ความเชื่อเกี่ยวกับการขอขมาพระคุณของแม่คงคา ต่อชีวิตมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายได้ ใช้ดื่มกิน เพาะปลูกเกษตรกรรม ถ่ายสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำลำคลอง อีกทั้งการไหลเรือไฟเป็นเป็นการบูชาไฟ เผาความทุกข์ให้ล่องลอยไปกับสายน้ำในคืนวันเพ็ญเดือน ๑๑ การไหลเรือไฟโบราณของชาวอีสานมีในจังหวัดศรีสะเกษ สกลนคร หนองคาย เลย อุบลราชธานี มุกดาหาร และนครพนม

ซึ่งนิยมจัดขึ้นในคืนวันเพ็ญเดือน ๑๑ ความศรัทธาต่อสายน้ำสานสัมพันธ์ผู้คนในชุมชนให้ฮักแพง แบ่งปันและเอื้ออาทรตลอดมา

การไหลเรือไฟ บ้างก็เรียกว่า ล่องเรือไฟ ปล่อยเรือไฟ หรือ เฮือไฟ

          โดยพระภิกษุสามเณรและชาวบ้าน นำกาบกล้วย หรือไม้ไผ่ทำเป็นรูปเรือมีความยาว ๓ – ๔ เมตร สูงประมาณ ๑ เมตร ครั้นเวลาพลบค่ำจะพร้อมกันที่วัด ร่วมสวดมนต์ฟังเทศน์ จากนั้นจึงแห่เรือไฟไปยังท่าน้ำเหนือหมู่บ้าน นำข้าวต้ม ขนม กล้วย อ้อย เงิน ธูปเทียน ใส่ลงในเรือไฟ ตั้งจิตอธิษฐานขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในลำน้ำปกป้องรักษาหมู่บ้าน และขอขมาที่ได้ล่วงเกินในห้วงเวลาที่ผ่านมา จากนั้นจึงจุดขี้ใต้ให้สว่างทั้งลำเรือไหลไปตามกระแสน้ำจนลับหมู่บ้านไป…

ดวงเดือน ไชยโสดา…รายงาน

เอกสารอ้างอิง

ศรายุทธ วังคะฮาต . (2560). ตามรอยเรือไฟ : พลังศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ไทสองฝั่งโขง. ทางอีศาน., 6, 67, 88-97.

บัณฑิต แสงวิจิตร . (2563, 25 กันยายน). ชาวนครพนมจัดใหญ่งานประเพณีไหลเรือไฟถวายเป็นพุทธบูชา- อุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ. เดลินิวส์. หน้า 14.

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), The Team 1990. (2562). ประเพณีไหลเรือไฟ จ.นครพนม ภาพการไหลเรือไฟ, 29 กรกฎาคม 2562. https://oer.learn.in.th/search_detail/result/147738

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), The Team 1990. (2562). ประเพณีไหลเรือไฟ จ.นครพนม ภาพการไหลเรือไฟ, 29 กรกฎาคม 2562. https://oer.learn.in.th/search_detail/result/147691

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), The Team 1990. (2562). ประเพณีไหลเรือไฟ จ.นครพนม ภาพการไหลเรือไฟ, 29 กรกฎาคม 2562. https://oer.learn.in.th/search_detail/result/147744

ขนิษฐา ทุมมากรณ์, คณะทำงานข้อมูลท้องถิ่น ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค, สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. (2563). ประเพณีไหลเรือไฟ อุบลราชธานี, 15 กรกฎาคม 2563. https://oer.learn.in.th/search_detail/result/185259

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), The Team 1990. (2562). ประเพณีไหลเรือไฟ จ.นครพนม ภาพบรรยากาศ จ.นครพนม ช่วงงานประเพณีไหลเรือไฟ, 29 กรกฎาคม 2562. https://oer.learn.in.th/search_detail/result/147762

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), The Team 1990. (2562). ประเพณีไหลเรือไฟ จ.นครพนม ภาพการไหลเรือไฟ, 29 กรกฎาคม 2562. https://oer.learn.in.th/search_detail/result/147736

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), The Team 1990. (2562). ประเพณีไหลเรือไฟ จ.นครพนม ภาพการไหลเรือไฟ, 29 กรกฎาคม 2562. https://oer.learn.in.th/search_detail/result/147734

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), The Team 1990. (2562). ประเพณีไหลเรือไฟ จ.นครพนม ภาพการไหลเรือไฟ, 29 กรกฎาคม 2562. https://oer.learn.in.th/search_detail/result/147723

ยศยาดา สิทธิวงษ์. (2560). ไหลเรือไฟ, 10 ตุลาคม 2566. https://oer.learn.in.th/search_detail/result/64116