พระธาตุนาดูน พุทธมณฑลอีสาน

 

    

พระธาตุนาดูน พุทธมณฑลอีสาน

อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม

พระธาตุนาดูน พุทธมณฑลแห่งอีสาน ตั้งอยู่ ณ โคกดงเค็ง ที่ป่าสาธารณ ตำบลพระธาตุ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม ในเนื้อที่ 902 ไร่ ซึ่งอยู่ห่างจากที่ขุดพบไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 2 กิโลเมตร หรือ อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอนาดูน ไปทางทิศใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร   ในปีพุทธศักราช 2522 กรมศิลปากรและราษฏร ในตำบลนาดูน ได้ขุดพบพระบรมสารีริกธาตุจากเนินดิน ซึ่งเป็นซากโบราณสถานในบริเวณที่นาของราษฏรท้องที่หมู่ที่ 1 ตำบลนาดูน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม พระบรมสารีริกธาตุมีสัณฐานดังเกล็ดแก้วประดิษฐานในผอบ 3 ชั้น ชั้นในเป็นทองคำ ชั้นกลางเป็นเงิน ชั้นนอกเป็นสำริด ซ้อนกันเรียงตามลำดับ และบรรจุอยู่ในสถูปจำลองอีกชั้นหนึ่ง เป็นสถูปโลหะทรงกลมสูง 24 เซนติเมตร ถอดออกเป็น 2 ส่วน ยอดสูง 12.30 เซนติเมตร ส่วนองค์สถูปสูง 12.10 เซนติเมตรชาวจังหวัดมหาสารคาม ดำริว่า สารีริกธาตุครั้งนี้นับเป็นนิมิตหมายอันดีแก่ชาวมหาสารคามอย่างยิ่ง สมควรสร้างพระสถูปเจดีย์ประดิษฐาน ไว้ ให้ถาวรมั่นคงเป็น ปูชนียสถานและสิริมงคลแก่ภูมิภาคนี้  ต่อไปจึงจัดสร้างโครงการพุทธมณฑลอีสานขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา ศิลปวัฒนธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่พุทธศักราช 2525 – 2529 ประกอบด้วยสถานที่สำคัญ คือ เจดีย์พระธาตุนาดูนที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ศูนย์พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมจำปาศรี เพื่อเก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับอาณาจักรจำปาศรีนครโบราณของบริเวณนี้ซึ่งอยู่ในสมัยทวารวดี อายุประมาณพุทธศตวรรณที่ 13 – 16 ประกอบด้วยวัดสวนรุกขชาตสวนสมุนไพร สาลาพัก แหล่งน้ำและถนน กำหนดพื้นที่ก่อสร้าง  ณ โคกดงเค็ง มีปริมณฑล 902 ไร่เศษ ชาวอำเภอนาดูนได้มีการจัดให้มีงานนมัสการพระธาตุนาดูนเป็นประจำทุกปี ในช่วงวันมาฆบูชาซึ่งจะมีขบวนแห่ของประชาชนและส่วนราชการ มีการประดับตกแต่งขบวนแห่อันตระการตา และมีประชาชนจากทั่วสารทิศเดินทางมานมัสการพระธาตุนาดูนเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 เป็นต้นมา

                                                                             ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

พระธาตุนาดูนมีความสูงจากฐานยอด 50.50 เมตร ฐานชั้นล่างเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสยาวด้านละ 35.70 เมตร ผนังภายนอกทั้งหมดเป็นหินล้างประดับตกแต่งด้วยกระเบื้องดินเผาส่วนสูงสุดซึ่งเป็นลูกแก้วและฉัตรประดับด้วยเกล็ดกระจกสีทอง

ส่วนประกอบขององค์พระธาตุนับจากส่วนล่างถึงยอดฉัตรแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

ส่วนฐาน มี 3 ชั้น  คือ  ชั้นที่ 1 เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีบันไดขึ้นตรงกลางทั้งสี่ด้าน สูงจากฐานราก 3.70 เมตร ต่กลบดินไว้ในส่วนล่างเหลือโผล่ขึ้นเหนือดิน เพียง 1.50 เมตร รอบๆ ฐานประดับด้วยรูปยักษ์แบกปูนปั้น ซึ่งหมายถึงการยอมรับในพระพุทธศาสนาตามแบบสถาปัตยกรรมสมัยทวารวดี

                   ชั้นที่ 2 เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้สิบสอง สูง 5 เมตร มีชั้นทางเดินปูด้วยกระเบื้องเคลือบ ตรงกลางของแต่ละด้านประดับด้วยซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปแต่ละช่วงของมุมตกแต่งด้วยพระพิมพ์ดินเผาจำลองขนาดใหญ่กว่าองค์จริงที่ขุดค้นพบได้ในบริเวณเมืองโบราณนครจัมปาศรีทั้งสิ้น นอกจากนั้นยังได้ประดับตกแต่งลวดลายแบบทวารวดีไว้บนซุ้มจระนำทั้งสี่ด้าน ที่มุมทั้งสี่ของชั้นที่ 2 นี้ มีพระธาตุขนาดเล็กซึ่งจำลองมาจากองค์ใหญ่ตั้งอยู่ประจำในทิศเฉียง แต่ละองค์มีปล้องไฉน 13 ปล้อง เปรียบกับพระโพธิสัตว์ 13 ชาติ

                   ชั้นที่ 3 เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง เช่นเดียวกับชั้นที่ 2 ตรงกลางของแต่ละด้าน มีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปประจำทิศตามปรัชญาทางวัชรยาน ทิศตะวันออก คือ พระอักโขภยา พุทธะ  ทิศตะวันตก คือ พระอมิตาภะ พุทธะ ทิศเหนือ คือ พระอะโมฆะสิทธิ และทิศใต้ คือ พระรัตนะสัมภวะ  แต่ละองค์ต่างประทับเป็นประธานของแต่ละเขต เพื่อช่วยให้สรรพสัตว์เข้าสู่พระอาทิพุทธซึ่งประทับอยู่ตรงกลางสวรรค์และมุ่งสู่นิพพาน 

                   ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสลดชั้น ซ้อนกันเป็นทรงเรือนธาตุ สถาปัตยกรรมสมัยทวารวดี

                                                                         2. ส่วนองค์พระธาตุ

         ก่อนจะถึงองค์พระธาตุ จะเป็นชั้นทรงแปดเหลี่ยมสูง 1.60 เมตร ทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างส่วนฐานกับส่วนองค์พระธาตุ ชั้นดังกล่าวนี้วางรองรับลวดบัวหงายซึ่งเป็นปากขององค์พระธาตุทรงระฆังกลม ตามลัทธิความเชื่อแบบฮินดูที่ว่ารูปสี่เหลี่ยมคือโลกมนุษย์ รูปแปดเหลี่ยมเป็นห้วงอวกาศและรูปทรงกลมเป็นห้วงสวรรค์  ส่วนล่างขององค์พระธาตุเป็นทรงกลม ประดับด้วยบัวหงายล้อมรอบสูง 1.00 เมตร ดอกบัวหมายถึงแสงสว่างและความรุ่งเรือง  ส่วนองค์พระธาตุเป็นระฆังทรงสูง พัฒนามาจากรูปครึ่งวงกลม มีความสูง 11.00 เมตร เป็นชั้นที่ใช้ประดิษฐ์ฐานสถูปพระบรมสารีริกธาตุองค์ที่ขุดพบได้ดังกล่าวแล้ว ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จแทนพระองค์มาทรงประกอบพิธีนำขึ้นบรรจุ  เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530  องค์ระฆังในส่วนที่โดมหรืออัณฑะ (ANDA)  คือส่วนสำคัญที่สุดของเจดีย์เพราะเป็นแหล่งบรรจุเก็บสิ่งต่างๆ เหมือนกับครรภ์ของมมนุษย์ที่สนองตอบความต้องการ  อาหาร  ความอยากได้อยากมี ตลอดจนกามารมณ์ ทางพุทธศาสนาจัดอยู่ในชั้นกามภูมิแต่พราหมณ์ถือว่าเป็นชั้นสูงสุด ภายในองค์ระฆังนี้เป็นโพรง เรียกว่า คูหา   ใช้เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

                                                                       3. ส่วนยอดของพระธาตุ

ก่อนจะถึงส่วนยอดเป็นแท่นบัลลังก์รองรับท่อนทรงหม้อน้ำ สูง 4.60 เมตร ตัวแทนบัลลังก์เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมตามตำราสิงหลถือว่าเป็นแท่นบูชาอันสูงสุด เรียกว่า หารมิกา (HARMIKA)

                   ส่วนหม้อน้ำมีรูปทรงหม้อน้ำเรียกว่า หม้อปูรณะฆฏะ หมายถึง หม้อแห่งความอุดมสมบูรณ์ หม้อน้ำของพระธาตุนาดูนตั้งอยู่บนแท่นบัลลังก์เหมือนองค์ระฆังแล้วต่อด้วยปล้องไฉน จึงเรียกว่า เป็นพระธาตุทรงหม้อน้ำ (KALASA)

                   ส่วนปล้องไฉนที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ส่วนฉัตรวาลี (CHATRAVALI)  มีจำนวน 6 ปล้อง เรียงขนาดลดหลั่นลงจากล่างไปบน สูงรวม 6.80 เมตร หมายถึงชั้นของเทวภูมิทั้งหกตามนิกายหินยานของพุทธศาสนา ซึ่งมีชั้นจาตุมหาราชิกาภูมิ ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามภูมิ และชั้นปรมนิมมิตวสวัตติภูมิ 

                   ส่วนสูงสุดคือส่วนของปลียอดลูกแก้วหรือฉัตรยอด มีความสูงรวมทั้งหมด 12.00 เมตร ลูกแก้วหมายถึง ดวงอาทิตย์ที่ให้แสงสว่างให้พลังงานและความอบอุ่นแก่มวลมนุษย์ ลูกแก้วสถิตอยู่ใต้ฉัตรยอด ถือว่าเป็นอรูปภูมิ เป็นทางผ่านไปสู่ชั้นนิพพาน (NIRVANA) ซึ่งเป็นชั้นแห่งความดับกิเลสธุลี และตัณหาทั้งปวง

ดวงเดือน ไชยโสดา….

 

 

เอกสารอ้างอิง

กรมวิชาการ.  ตักสิลามหาสารคาม : สะดืออีสาน.  มหาสารคาม : กรมวิชาการ, 2546.

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสาร และจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.  วัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดมหาสารคาม.  กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2544.

สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 7 ขอนแก่น.  โบราณสถานขึ้นทะเบียนในเขตสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 7 ขอนแก่น.  กรุงเทพฯ : สำนักงาน, 2545.

สุทธิชัย  ปทุมล่องทอง.  ที่นี่ประเทศไทย : ท่องเที่ยวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ.  กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊คส์,  2549.