ฮดสรงในฮูปแต้ม
ฮดสรงในฮูปแต้ม
โฮงฮด หรือ ฮางฮด (รางฮด)
เป็นศิลปะไม้แกะ -สลักอีสาน ใช้สำหรับรดหรือสรงน้ำพระสงฆ์ทำเป็นรูปคล้ายเรือจำลองขนาดเล็กยาว เหมือนของล้านนา ส่วนหัวมักทำรูปเศียรนาค ส่วนท้องค่อนไปทางหัว เจาะรูให้น้ำไหลลงสู่พระสงฆ์ที่นั่งอยู่ข้างล่างเป็นประเพณีอย่างหนึ่งเรียกว่า ประเพณีอดสรง ประเพณีนี้มีในโอกาสพิเศษ เช่น ทำเพื่อเป็นการเลื่อนยศให้แก่พระสงฆ์ตามประเพณีเดิมซึ่งชาวอีสานเลือกพระที่จะเข้าพิธีนี้เอง
ประเพณีฮดสรง แทรกอยู่ในเรื่องเวสสันดร ชาวบ้านกำลังนั่งทำพิธีฮดสรง มีรางฮดหรือโฮงฮด ผนังด้านนอก ทิศตะวันตก วัดป่าเรไรย์ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม |
คำว่า ฮาง ไม้แก่นที่ขุดเป็นร่องตรงกลางสำหรับใส่อาหารสัตว์ มีขนาดต่างๆ กัน เช่น ฮางไก่สำหรับใส่อาหารไก่ ฮางเฮ็ดสำหรับใส่อาหารเป็ด
คำว่า ฮางสรง ภาษาถิ่นอีสาน ไม้ที่ขุดเป็นรางยาวๆ ใช้เป็นฮางน้ำหรือรางน้ำรับน้ำฝนจากชายคาเรียกว่า ฮางลิน (รางน้ำ) หรือใช้เป็นรางน้ำสำหรับสรงน้ำพระเถระเหรือเจ้านาย เรียงว่า ฮางสรง (ฮางน้ำฮดสรง) หรือ ฮางสงน้ำ ภาคเหนือเรียกการสรงน้ำว่า ฮินฮดน้ำ (รดน้ำ)
พิธีฮดสรง (รดสรง) เป็นการสรงน้ำพระภิกษุที่เป็นพิธีกรรมในภาคอีสานนั้นกระทำกัน 2 พิธี คือ
- สรงน้ำพระภิกษุ และสรงน้ำพระพุทธรูปในวันสงกรานต์หรือบุญเดือนห้า
- สรงน้ำพระภิกษุเพื่อเลื่อนสมณศักดิ์ตามแบบแผนท้องถิ่นโบราณ เช่น จะเลื่อนสมณศักดิ์พระภิกษุที่มีจริยวัตรดีงาม การสำเร็จแต่ละขั้นตอน ในฐานะสูงขึ้นตามลำดับ
ประเพณีฮดสรงและการบายศรีสู่ขวัญ
เมื่อพระเวสสันดรเข้าเมืองแล้ว ก็ทำพิธีฮดพระเวส ผนังด้านนอกวัดโพธาราม อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม |
ในพิธีสรงน้ำพระภิกษุนั้นชาวบ้านทุกคนจะมาร่วมสรงน้ำพระภิกษุ โดยนำน้ำสะอาดบริสุทธิ์ หรือน้ำที่ผสมน้ำอบน้ำหอมมาสรงพระภิกษุด้วย น้ำเหล่านั้นจะราดลงบนร่างกายพระภิกษุเปียกทั้งตัว
ประเพณีฮดสรง
เมื่อพระเวสสันดรเข้าเมืองแล้วก็ทำพิธีฮดพระเวส
ผนังด้านนอกวัดโพธาราม อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม
พิธีฮดสรงนี้มีเครื่องใช้ประกอบในพิธีหลายอย่าง เขาจะนำฮางฮดไปตั้งไว้กลางแจ้งปลูกศาลเพียงตาไว้สองข้างสำหรับตั้งบายศรีปลูกต้นกล้วยบริเวณโรงพิธีและยังมีอย่างอื่นๆ อีกหลายอย่าง เมื่อพระสงฆ์ผู้ที่จะเข้าพิธีนั่งลงที่ใต้รางหรือฮางตรงคอนาคที่มีรูน้ำไหลออกแล้ว พระสงฆ์หรือผู้อาวุโสของหมู่บ้านก็จะนำฝูงชนเทน้ำหอมลงที่ฮาง ฝูงชนที่เข้าไปรดน้ำไม่ถึงก็จะเกาะจีวรพระหรือชายผ้าผู้อาวุโสแทนถือว่าบุญได้ผ่านมาถึงตนด้วย ปัจจุบันประเพณีอดสรงไม่มีให้เห็นอีกแล้ว
ดวงเดือน ไชยโสดา…
วิจิตร พรรณะ ถ่ายภาพ
เอกสารอ้างอิง :
สุมาลี เอกชนนิยม. (2548). ฮูปแต้มในสิมอีสานงานศิลป์สองฝั่งโขง. มติชน.
วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. (2558). พจนานุกรมหัตถกรรมเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน. เมืองโบราณ.
มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. (2552). สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน. สยามเพลส.