บุนสงน่าม หรือ บุญเดือนห้า

บุนสงน่าม หรือ บุญเดือนห้า

 

สงน่าม เขียนตามเสียงพูดของคนอีสาน ตามกับภาษาไทยว่า สรงน้ำ เป็นคำกริยา แปลว่า อาบน้ำ ซึ่งคำนี้ใช้แก่บรรพชิตและเจ้านาย

เป็นคำที่มาจากภาษาเขมร

          ฉะนั้น บุนสงน่าม จึงหมายถึง การทำบุญที่เอาน้ำอบน้ำหอม โปรดหรือไปสรงพระพุทธรูปพระภิกษุสงฆ์ และคนเฒ่าคนแก่ที่เราเคารพนับถือ มีพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นต้น

มูลเหตุที่ทำ เนื่องจากเดือนห้าถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวอีสารมาแต่โบราณ โดยจะถือเอาวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 เป็นวันเริ่มต้นการทำบุญ

อย่างไรก็ตาม “ฮีตที่ 5 หรือ บุนเดือนห้า” นี้ก็คือ “บุญวันขึ้นปีใหม่ของชาวอีสานนั้นเอง” ซึ่งมีวันสำคัญ 3 วันดังนี้

          วันแรก คืนวันขึ้น 15 ค่ำเดือนห้า ถือเป็นวันสิ้นปีเก่า เรียกว่า  “มื้อสังขารล่อง” วันนี้จึงเริ่มด้วยการทำความสะอาดพระพุทธรูปและวัตถุมงคล แล้วสรงน้ำพระพุทธรูปด้วยน้ำอบ น้ำหอม

          วันที่สอง คือวันแรม 1 ค่ำเดือนห้า เรียกว่า “มื้อเนา” ซึ่งเป็นวันหยุด จึงควรพากันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บิดาญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไปแล้ว

         วันที่สาม คือวันแรม 2 ค่ำ เรียกว่า “มื้อสังขารล่อง” หรือวันขึ้นปีใหม่นั้นเองซึ่งในวันนี้ควรทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารแก่ภิกษุสามเณร แล้วนำน้ำอบ น้ำหอมไปรดน้ำคารวะ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ตลอดครูวาอาจารย์หรือผู้หลักผู้ใหญ่ที่ตนเตารพนับถือและยังมีชีวิตอยู่จากนั้นควรไปปล่อยนก ปล่อยปลา เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตของตน

         หลังพิธีสรงน้ำพระพุทธรูปแล้วก็จะมีพิธี “สงน้ำพระสงฆ์” โดยในสมัยก่อนญาติโยมจะพากันหาน้ำไปเทใส่ไว้ในโอ่งของวัดจนเต็มหมดทุกโอ่ง เพื่อจะให้ภิกษุสามเณรใช้อาบ แต่ทุกวันนี้ทุกวัดมีน้ำประใช้ พิธีพิธีสงฆ์น้ำพระสงฆ์เปลี่ยนไป โดยนำน้ำอบน้ำหอมที่เหลือจากสงน้ำพระพุทธรูปแล้วไปรดมือพระสงฆ์ ต่อจากนั้นก็เล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน

          เมื่อกลับจากวัดแล้วก็จะเป็น “พิธีสรงน้ำผู้เฒ่าผู้แก่” ในหมู่บ้าน โดยพวกสาวๆ จะหาบน้ำไปให้ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ตนรักและเคารพ อาบ และพวกลูกสะใภ้ทั้งหลายต้องหาบน้ำไปให้แม่และพ่อสามีตนอาบ เช่นกัน หากไม่กระทำถือว่า “ผิดคอง” ชาวบ้านจะพากันประณามว่าเป็นคนไม่ดี

          ปัจจุบันทุกบ้านเรือนมีน้ำประปาใช้ พิธีสรงน้ำ ผู้เฒ่าผู้แก่ก็เปลี่ยนเป็น “รดน้ำขอพร” แทน โดยลูกหลานจะนำน้ำอบ น้ำหอมไปรดน้ำที่ฝ่ามือ ปู่ ย่า ตา ยาย และพ่อแม่ ของตน พร้อมเครื่องสักการะ เช่น ดอกไม้ ผ้าไหว้ (ผ้าเช็ดตัว ผ้าขาวม้า ผ้านุ่ง ฯลฯ) แทนการหาบน้ำไปให้อาบ

         พิธีกรรม เริ่มด้วยการ เอาพระลง หรือ การสรงน้ำพระพุทธรูป แต่ชาวบ้านเรียกว่า เอาพระลง ซึ่งจะเริ่มเวลาประมาณบ่ายสามโมง (15.00 น.) ของวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 พระสงฆ์จะตี กลองโฮม (กลองใบใหญ่ในวัด) เป็นสัญญาณบอกให้ญาติโยมในหมู่บ้านออกมารวมกันที่วัด

          พระภิกษุสามเณรทั้งหมดในวัดจะนำพระพุทธรูปทั้งหมดที่ประดิษฐานไว้ในที่ต่างๆ ของวัดมาทำความสะอาดด้วยการขัดถูให้เกลี้ยง แล้วนำมาตั้งรวมกันไว้ในศาลาโรงธรรมหรือในพระอุโบสถแล้วแต่กรณี พระสงฆ์สามเณรทั้งวัดก็จะมานั่งอาสนะที่จัดไว้ ญาติโยมที่มาวัดจะนำน้ำอบน้ำหอมพร้อมดอกไม้ธูปเทียน เมื่อพร้อมกันแล้วผู้เป็นประธานพิธี ซึ่งส่วนมากได้แก่ มรรคทายกวัด จะเป็นผู้นำกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย อาราธนาศีล อาราธนาพระปริตร พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบแล้ว ญาติโยมทำพิธีสรงน้ำพระพุทธรูป โดยนำดอกไม้ธูปเทียนสักการะ แล้วนำน้ำอบน้ำหอบสรงน้ำพระพุทธรูปทั้งหมดที่มีอยู่วัด และจะทำเช่นนี้ในเวลาเดียวกันจนถึงวันเพ็ญเดือนหก (ครบหนึ่งเดือน) ถึงจะเอา “พระขึ้น” คือ เอาพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานไว้ ณ ที่เดิม แต่ปัจจุบันใช้เวลาสรงน้ำพระพุทธรูปเพียงสามวันก็เอาพระขึ้นแล้ว เพราะญาติโยมต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปประกอบอาชีพทำมาหาเลี้ยงตนเอง

ปัจจุบัน “บุนสงน่าม” ของชาวอีสานได้ปรับเปลี่ยนเป็น “วันสงกรานต์” ตามการกำหนดของทางราชการ โดยถือเอาวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปีเป็นเกณฑ์ โดยไม่เกี่ยวว่าทั้งสามนั้นจะตรงกับวันขึ้นหรือแรมกี่ค่ำของเดือนห้า และในวันสงกรานต์ดังกล่าวก็มหรสพต่างๆ เพื่อความรื่นเริง มีการทำบุญตักบาตร ปล่อยนก ปล่อยปลา รดน้ำผู้ใหญ่ที่เราเคารพถือเพื่อขอพรและสงน้ำพระพุทธรูป ส่วนหนุ่มสาวและเด็กๆ ก็จะเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนานนอกจากนี้นับตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2532 เป็นต้นมา คณะรัฐรัฐมนตรีในสมัยนั้นได้มี “มติ” กำหนดให้วันที่ 15 เมษายนของทุกปี “วันแห่งครอบครัว” เพื่อให้สมาชิกครอบครัวทุกคนได้มีโอกาสพบปะแล้วอยู่พร้อมหน้ากัน ซึ่งได้แก่ สามี ภริยา บุตรธิดา เป็นการเสริมสร้างความรักความเป็นปึกแผ่น และความผูกพันอันแนบแน่นระหว่างสมาชิกในครอบครัวให้มั่นคงถาวรตลอดไป

ดวงเดือน ไชยโสดา…

เอกสารอ้างอิง : วัฒนธรรมอีสาน : 100 ปี ชาตกาลคำดี สาระผล . 2555. ขอนแก่น : โรงพิมพ์พระธรรมขันต์