ฮีตเดือนสิบ : บุญข้าวสาก

ฮีตเดือนสิบ : บุญข้าวสาก

     ฮีตเดือนสิบ : บุญข้าวสาก

การเขียนชื่อใส่ลงในพาข้าว (สำรับ) เรียกข้าวสาก (สลาก) การทำบุญมีการให้ทานเป็นต้น เกี่ยวแก่ข้าวสากเรียกบุญข้าวสาก เพราะมีกำหนดการทำในเดือนสิบจึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า บุญเดือนสิบ

               เป็นการทำบุญเพื่ออุทศส่วนกุศลบรรพบุรุษหรือญาติมิตรของเราที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นผู้มีพระคุณต่อเรามากมาย การทำบุญทำทานอุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ล่วงลับแล้ว จึงเป็นหน้าที่ที่เราพึงกระทำ ฉะนั้นก่อนออกพรรษา 1 เดือน จะมีบุญสำคัญที่กำหนดเป็นฮีตที่ 10 และทำกันในวันเพ็ญเดือนสิบ ชาวอีสานเรียกว่าบุญข้าวสาก ส่วนชาวภาคกลางเรียกว่า บุญสารท ซึ่งเขากำหนดทำในวันสิ้นเดือนสิบ (วัดดับหรือวันแรม 15 ค่ำ เดือนสืบ)

บุญข้าวสากจะมีการเตรียมสิ่งของเอาไว้ล่วงหน้า มากและนานวันกว่าบุญข้าวประดับดิน สิ่งที่เตรียมคือหาเนื้อหาปลาทำข้าวเม่า ข้าวพอง คั่วข้าวตอกแตก หาถั่ว งา น้ำอ้อย น้ำตาล หมากพลู บุหรี่ สำหรับข้าวเม่าข้าวพอง หรือข้าวตอกแตกนั้นจะคลุมเคล้ากับน้ำตาลกะทิมะพร้าว ถั่ว งา เรียกว่า “ข้าวสาก” หรือที่ภาคกลางเรียก “ข้าวกระยาสารท” นั้นเอง

“การส่งข้าวสาก” โดยพวกเราที่เป็นญาติมิตรหรือบ้านใกล้เรือนเคียงกัน จะเอาสิ่งของที่ตนมีมากไปให้ญาติมิตร เพื่อใช้ในบุญข้าวสาก ฝ่ายที่ได้รับก็จะแบ่งปันสิ่งของที่ตนมีใส่ตะกร้าหรือภาชนะนั้น เป็นการตอบเทนของที่ให้กันไปให้กันมานี้เราเรียก “ของต้อน” ประเพณีอย่างนี้อาจจะหาได้ยากจากสังคมอื่นๆ ในสมัยปัจจุบันแต่สำหรับชาวอีสานบ้านเฮายังคงยึดถือกันตลอดจนทุกวันนี้ นับว่าเป็นเครื่องหมายของความมีน้ำใจ ความโอบอ้อมอารี ไม่เห็นแก่ตัว ซึ่งชาวอีสานมีไม่เคยขาด การอยู่ร่วมกันย่อมพึ่งพาอาศัยกัน เราจะอยู่คนเดียวโดยไม่พึ่งคนอื่นไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องช่วยเหลือผู้อื่นด้วย การกระทำอย่างนี้นับว่าเป็นวัฒนธรรมอันสูงส่ง น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง

พิธีกรรม

เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ญาติโยมจะพากันทำบุญใส่บาตร ครั้งถึงเวลาพระจะฉันเพลญาติโยมชาวบ้านเกือบทุกหลังคาเรือนจะจัด “พาเข้า” (คือภาชนะใส่สำหรับข้าว) พร้อมทั้งปัจจัยไทยทานหนึ่งชุด แล้วเขียนชื่อของตนลงบนกระดาษม้วนลงในบาตรเมื่อทุกคนพร้อมกันแล้วผู้เป็นหัวหน้ากล่าวคำถวายสลากภัต ญาติโยมว่าตาม จบแล้วนำไปให้พระเณรจับสลากที่อยู่ในบาตรพระเณรจับได้ฉลากของใคร ผู้เป็นเจ้าของพาเข้าและเครื่องปัจจัยไทยทานก็นำไปประเคนให้พระเณรรูปนั้นๆ จากนั้นพระเณรจะฉันเพลให้พร ญาติโยมจะพากันรับพรแล้วกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่ญาติพี่น้อง ผู้ล่วงลับไปแล้ว

ดวงเดือน ไชยโสดา..รายงาน

เอกสารอ้างอิง :

วัฒนธรรมอีสาน : 100 ปี ชาตกาลคำดี สาระผล (2555). โรงพิมพ์พระธรรมขันต์.

วิเชียร เกื้อทาน. (31 ตุลาคม 2547). บุญข้าวสาก. บ้านเมือง, 14.

กฤษณา พันธุ์มวานิช. (18 กันยายน 2544). บุญข้าวประดับดินและบุญข้าวสาก. สยามรัฐ, 19.