แคน

 

แคน  เป็นเครื่องดนตรีสำคัญของชาวอีสาน ทำจากไม้กู่แคน เมื่อเป่าแล้วทำนองเสียงดัง    แคนแล่นแคน แล่นแคน แล่นแคน  แคนหนึ่งอันเรียกว่าแคนหนึ่งเต้า

ประวัติความเป็นมา
แคน เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองภาคอีสานที่เก่าแก่มีมาแต่โบราณ เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ปากเป๋าให้เป็นเพลง แบ่งเป็นสองอย่างคือ แคนเจ็ดและแคนแปด แคนเจ็ดนั้นมีลูกเจ็ดคู่ ส่วนแคนแปดนั้นมีลูกแปดคู่  แคนทำด้วยไม้อ้อหรือไม้เหี้ยน้อย แต่เดี๋ยวนี้ไม้อ้อหาได้ยาก จึงทำแคนด้วยไม้เหี้ยน้อยและจะต้องหาให้ได้ลดขนาดเท่านิ้วมือจึงจะใช้ได้ระบบของแคนแปดมีเสียงทั้งหมด ๑๖ เสียงแต่เป็นระดับเสียงที่ซ้ำกัน ๒ เสียง โดยเสียงทั้ง ๑๖ เสียงนี้ มิได้เรียงลำดับอย่างเสียงระนาดหรือเสียงเปียโน

ส่วนประกอบของแคนมีดังนี้

  1. ลูกแคน  ลูกแคนคือไม้ไผ่ที่นำมาประกอบเป็นแคน ทำจากไม้ซางซึ่งเป็นพืชตระกูลไม้ไผ่  ลำเล็ก ๆ มีปล้องยาว ขนาดเท่านิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้และนิ้วนางตามลำดับ โดยนำมาลนไฟแล้วดัดให้ตรงขนาดยาวตั้งแต่แปดสิบเซนติเมตรถึงสามเมตร ไม้กู่แคนทุกลำทะลุข้อออกเพื่อให้ลมผ่าน ฝังลิ้นทองเหลือง หรือลิ้นเงิน ห่างจากปลายข้างบนประมาณ 50-60 เซนติเมตร โดยบริเวณนั้นบากเป็นช่องสี่เหลี่ยมสองช่องห่าง หรือไกล้กันตามลักษณะของระดับเสียง ตรงกลางของไม้กู่แคนเจาะรูกลมเล็กๆ  ลำละหนึ่งรูเพื่อใช้นิ้วปิดเปิดเวลาบรรเลง เรียกว่ารูนับ รูที่บากอยู่ด้านในเมื้อประกอบเป็นแคนแล้ว     จะมองไม่เห็นแคนแต่ละดวงจะมีจำนวนลูกแคนไม่เท่ากันขึ้น อยู่กับชนิดของแคน แคนหกมีใม้กู่      แคนสามคู่ แคนเจ็ด มีไม้กู่แคนเจ็ดคู่
  2. เต้าแคน  คือปล้องตรงกลางแคน มีลักษณะกลมเป็นกระเปาะหัวท้ายสอบมีไว้เพื่อประกอบลูกแคนทุกลูกทำเข้าด้วยกันและหุ้มลิ้นลูกแคนไว้ เต้าแคนถูกเจาะรูกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณหนึ่งเซนติเมตรที่หัวเต้า เพื่อใช้ปากเป่าให้ลมผ่านลิ้นแคนทุกลิ้น ระหว่างเต้าแคนและลูกแคนนำขี้สูดมาปิดให้แน่นป้องกันมิให้ลมที่เป่าเข้าไปนั้นรั่วออกมาข้างนอก ไม้ที่นิยมทำเต้าแคน คือไม้ประดู่ไหม ไม้พยุง     ไม้แคนหรือไม้ตะเคียน ไม้หนามแท่ง ส่วนมากนิยมใช้ไม้ประดู่ส่วนที่เป็นราก
  3. หลาบโลหะ  คือแผ่นโลหะบาง ๆ ที่สกัดออกเป็นลิ้นแคนโดยมากใช้โลหะผสมระหว่างทองแดงกับเงิน ถ้าใช้แผ่นเงินบริสุทธิ์หรือทองแดงบริสุทธิ์จะทำให้อ่อนหรือแข็งจนเกินไป แผ่นโลหะแผ่นหนึ่งยาวประมาณสามเซนติเมตร กว้างประมาณ 4 เซนติเมตร และหนาเพียง 2 มิลลิเมตร
  4. ขี้สูตหรือชันโรง เป็นชี้ผึ้งเหนียวสีดำที่ได้จากรังของแมลงชนิดหนึ่งตัวเล็กกว่าผึ้งเรียกว่าแมลงขี้สูด คุณสมบัติของขี้ผึ้งชนิดนี้คือเหนียวไม่ติดมือและไม่แห้งกรอบ ขี้สูตใช้ผนึกช่องว่างระหว่างลูกแคนกับเต้าเพื่อไม่ให้ลมที่ผ่านเข้าทางปากรั่วไหลออกจากเต้า

การประกอบส่วนต่าง ๆ ให้เป็นแคน เริ่มจากเมื่อเตรียมลูกแคนและเต้าแคนเรียบร้อยแล้วนำลูกแคนทั้งหมดสอดเข้าไปในเต้าแคนตามลำดับเป็นคู่กัน

คู่ที่หนึ่ง ด้านซ้ายเรียกว่า โป้ซ้าย ด้านขวา เรียกว่า โป้ขวา

คู่ที่สอง ด้านซ้ายเรียกว่า แม่เวียงใหญ่ ด้านขวา เรียกว่า แม่เซ

คู่ที่สาม ด้านซ้ายเรียกว่า แม่แก่ ด้านขวา เรียกว่า สะแนน

คู่ที่สี่ ด้านซ้ายเรียกว่า แม่ก้อยขวา ด้านขวาเรียกว่า ฮับทุ่ง

คู่ที่ห้า ด้านซ้ายเรียกว่า แม่ก้อยซ้าย ด้านขวาเรียกว่า ลูกเวียง

คู่ที่หก ด้านซ้ายเรียกว่าสะแนนน้อย ด้านขวาเรียกว่า แก่นน้อย

คู่ที่เจ็ด ด้านซ้ายเรียกว่า เสพซ้าย ด้านขวาเรียกว่า เสพขวา

 ประเภทของแคน

การแบ่งประเภทของแคนอาจแบ่งตามขนาด หรือแบ่งตามลักษณะการบรรเลงก็ได้ การแบ่งตามขนาด แบ่งเป็น 4 ชนิดคือ

Ÿ แคนหก คือแคนที่จำนวนลูกแคนหรือไม้กู่แคนมีสามคู่หกลำ เป็นแคนสำหรับเด็กเป่าเล่น เป่าได้เฉพาะเพลงง่าย ๆ เพลงยากที่มีเสียงสูงต่ำหลายเสียงไม่สามารถเป่าได้เพราะลูกแคนมีเพียงหกลูก มีระดับเสียงสูง-ต่ำไม่ครบตามที่ต้องการ

Ÿ แคนเจ็ด คือแคนที่ประกอบด้วยไม้กู่แคน หรือลูกแคนเจ็ดคู่หรือสิบสี่ลำมีเสียง 14 เสียง

Ÿ แคนแปด คือแคนที่ประกอบด้วยไม้กู่แคนแปดคู่หรือสิบหกลำมีเสียง 16 เสียง ใช้เป็นแคนเดี่ยวสำหรับเป่าประสานเสียงคลอไปกับการลำ

Ÿ แคนเก้า คือแคนที่ประกอบด้วยไม้กู่แคนเก้าคู่ หรือสิบแปดลำ มีเสียงทั้งหมด 8 เสียง เป็นเสียงใหญ่ทุ้มต่ำใช้ประกอบการลำ

การบรรเลงแคนปัจจุบันมี 3 ลักษณะ ได้แก่

Ÿ การบรรเลงแคนเดี่ยว ใช้บรรเลงประกอบการลำซิ่ง หมอลำแบบดั้งเดิม ใช้เสียงแคนเท่านั้น  เป่าประสานการร้องหมอลำ  จะใช้แคนขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ก็ได้

Ÿ การบรรเลงแคนวง เป็นการบรรเลงหลายเต้าพร้อมกันโดยเป่าผสมกับเครื่องจังหวะ เช่น กลอง ฉิ่ง ฉาบ กรับ จะใช้แคนขนาดใดก็ได้จำนวน 6-12 เต้า

Ÿ  การบรรเลงแคนวงประยุกต์ เป็นการนำแคนไปบรรเลงร่วมกับเครื่องดนตรีสากลประเภท กลองชุด เบส กีตาร์ ออร์แกน อิเล็กโทน หรือบางครั้งก็นำเอาดนตรีไทย เช่น ซอ ขิม จะเข้  เข้ามาประกอบ การบรรเลงชนิดนี้ประกอบการร้องเพลงไทยสากลและเพลงลูกทุ่งมีหางเครื่องเต้นโชว์ประกอบหรือการบรรเลงประกอบการแสดงหมอลำหมู่และหมอลำซิ่ง

การเก็บรักษาแคน

แคนเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้าน ทำจากวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น วัสดุที่ใช้ประกอบแคนค่อนข้างบอบบาง มีโอกาสชำรุดเสียหายได้ง่าย แคนจะอยู่ในสภาพดีหากเจ้าของเป่าเสมอต้นเสมอปลาย ปริมาณลมเข้าออกเท่า ๆ กัน ทำให้ปลายลิ้นแคนไม่โก่ง การเก็บรักษาแคนควรเก็บไว้ ในกล่องที่แข็งแรงหรืออาจเก็บไว้ในถุงผ้าที่ปิดได้สนิทกันแดดและฝุ่นได้ ไม่ควรเอาแคนไปจุ่มน้ำเพื่อทำความสะอาดลิ้นแคนจะเป็นสนิมได้ ควรใช้ผ้าสะอาดที่แห้งปัดฝุ่นหรือเช็ดลิ้น

ความสำคัญและคุณค่าแห่งมรดกภูมิปัญญา
ท่วงทำนองของแคนที่ถูกเป่าออกมานั้น ชาวอีสานเรียกว่า  ลายแคน ลายแคนเป็นภูมิปัญญาที่มีการสืบต่อกันมาจากความทรงจำหมอแคนในอดีต ไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ลายแคน ถูกประดิษฐ์ขึ้นจากการเลียนลีลาและท่วงทำนองหรือเสียงจากธรรมชาติซึ่งให้ความไพเราะจับใจ สามารถแยกระดับเสียงได้ ๒ กลุ่มระดับเสียง คือ ทางยาว หมายถึง การบรรเลงประกอบการลำที่มีท่วงทำนองเชื่องช้า เหมาะสำหรับการลำในบทเล่าเรื่อง บทพรรณนา บทโศกเศร้าหวนหา และทางสั้น หมายถึง การบรรเลงประกอบการลำที่มีท่วงทำนองกระชับ สนุกสนาน ร่ำเริง ลายแคนที่นิยมเล่น ได้แก่ ลายสุดสะแนน ลายอ่านหนังสือใหญ่ ลายอ่านหนังสือน้อย ลายเช ลายแมลงภู่ตอมดอกลายโปงลางขึ้นภู ลายแม่ช้างกล่อมลูก ลายลมพัดไผ่ ลายลมพัดพร้าวลายล่องของ ลายโป้ซ้าย ลายเต้ย ลายเซิ้งการบรรเลงดนตรีทุกอย่างของชาวอีสานจะใช้ แคนเป็นหลัก ถือเป็นเอกลักษณ์ทางดนตรีของชาวอีสานอย่างหนึ่ง และทำนองเพลงของเครื่องดนตรีต่าง ๆ ก็ล้วนแต่ยึดแบบอย่างของเพลงแคนในสมัยโบราณพวกหนุ่มผู้นิยมเป่าแคนดีดพิณเดินเลาะบ้านไปคุยสาวหรือไม่ก็ในงานบุญผะเหวด ชายหนุ่มก็จะพากันเป่าปีเป่าแคน ดีดพิณ สีซอ เลาะตามตูบ พร้อมกับเกี้ยวสาวไปด้วย แต่ในปัจจุบันประเพณีต่าง ๆ เหล่านี้สูญหายไปแล้ว จึงเหลือแต่การบรรเลงประกอบลำและประกอบฟ้อนในงานที่มีรูปแบบอื่น ๆ
การประกาศขึ้นบัญชี
แคน ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๖

ดวงเดือน ไชยโสดา…รายงาน

เอกสารอ้างอิง

มรดกภูมิปัญญาอีสาน. (2562). [กรุงเทพฯ]: กลุ่มสงวนรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สถาบันวัฒนธรรมศึกษา กรมส่งเสริมวัฒนธรรม.
กิริยา กากแก้ว. เมืองมหาสารคามชวนเที่ยวงานประเพณีออนซอนกลองยาวชาววาปีภูมิปัญญาท้องถิ่น

เดลินิวส์ 12 ธันวาคม 2561 หน้า 14 ภาพประกอบ