เรือนไทยภาคอีสาน

เรือนไทยภาคอีสาน

 

ประวัติความเป็นมาของเรือนไทยภาคอีสาน

“ดินแดนในเฮือนมีเสา เป่าแคน แห้นข้าวเหนียว เคี้ยวปลาแดก แม่นแล้วคือลาว”

        ลาวในที่นี้ หมายถึง ชนชาติไต-ลาว ซึ่งเป็นบรรพบุรุษร่วมสายใยทางวัฒนธรรมของกลุ่มชนไทย-อีสานนั้นเอง ลักษณะร่วมทางวัฒนธรรมอันเป็นตัวคอยเชื่อมโยงอยู่มี 3 ประการ คือ พูดตระกูลไท-ลาว ปลูกข้าวเหนียว และยกเรือนเสาสูง

          ลักษณะอาคารบ้านเรือนเป็นองค์วัตถุที่แต่ละเผ่าชนได้สั่งสมและสืบสานนับเนื่องกันมายาวนานจนผู้พบเห็นบอกได้ทันทีว่า ลักษณะอาคารบ้านเรือนเช่นนั้นเป็นของคนชาติใด-เผ่าใด เช่น คนอีสานซึ่งส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายไต-ลาว จะมีบ้านหรือเฮือนใต้ถุนสูง ทั้งนี้เนื่องจากอีสานเป็นที่สูง อยู่ในเขตซึ่งในอดีตมีสัตว์ร้ายมากมาย ในฤดูร้อนก็ร้อนมากต้องอาศัยใต้ถุนบ้านเป็นที่ทำงานบ้านต่าง ๆ เป็นคอกสัตว์เลี้ยงและที่เก็บเครื่องใช้สอย รวมทั้งใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและปฏิสัมพันธ์เพื่อนบ้านในรูปแบบต่างๆ หรือแม้แต่การป้องกันน้ำท่วมซึ่งมีให้เห็นได้บ่อยในฤดูฝน ชาวอีสานโดยทั่วไปมักจะตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นกลุ่มเครือญาติเป็น “หมู่บ้าน” บนที่สูง ใกล้ป่า ใกล้แหล่งน้ำ และมีพื้นที่ทำนาโดยรอบหมู่บ้าน เพราะเกือบทั้งหมดเป็นชาวนา ชื่อหมู่บ้านต่าง ๆ มักจะบ่งบอกภูมิลักษณะที่ตั้ง เช่น บ้านหนอง บ้านห้วย บ้านนา บ้านกุด บ้านโคก บ้านดง บ้านโนน บ้านโพน ฯลฯ การอยู่รวมกันเป็นจุดเด่นของชุมชนอีสาน ซึ่งดั้งเดิมไม่นิยมทำรั้วถาวร เพราะต้องไปมาหาสู่กันระหว่างบ้านใกล้เรือนเคียงโดยถือคติว่ามีเพื่อนบ้านที่ดีไม่ต้องมีรั้วบ้าน โดยปกติชาวอีสานจะอยู่กันเป็นครอบครัวขยายมีพ่อ-แม่-ลูก-ปู่-ย่า-ตา-ยาย ลูกเขย ลูกสะใภ้ ลูกเขย-ลูกสาว มักจะออกเรือนใหม่ใกล้ๆ กับเฮือนพ่อตา-แม่ยาย หนุ่มสาวชาวอีสานเมื่อแต่งงานกันแล้ว ตามปกติฝ่ายชายจะต้องไปอยู่บ้านพ่อตาแม่ยาย ต่อเมื่อมีลูกจึงขยับขยายไปอยู่ที่ใหม่เรียกว่า “ออกเฮือน” แล้วหักล้างถางพงหาที่ทำนา ดังนั้น ที่นาของคนชั้นลูกชั้นหลานจึงมักไกลออกจากหมู่บ้านไปทุกที และเมื่อบริเวณเหมาะสมจะทำนาหมดไป เพราะพื้นที่ราบที่มีแหล่งน้ำจำกัด คนอีสานชั้นลูกหลานก็มักชวนกันไปตั้งบ้านใหม่อีก หรือถ้าที่ราบในการทำนาบริเวณใดกว้างไกลไปมาลำบาก ก็จะชักชวนกันไปตั้งบ้านใหม่ใกล้เคียงกับนาของตน ทำให้เกิดการขยายตัวกลายเป็นหมู่บ้านขึ้น จึงทำให้หมู่บ้านอีสานเติบโตเป็นคุ้มบ้านซึ่งมีบ้านเรือนหนาแน่นส่วนการปุกเฮือน (ปลูก) ก็ใช้การลงแขก (หา) เพื่อช่วยเหลือกัน การลงแขกในหมู่บ้านอีสาน เป็นทุนทางสังคม ที่มีความหมายมากสำหรับชาวอีสานในอดีต ซึ่งถูกอำนาจทุนและอำนาจรัฐทำลายไปในช่วงที่อีสานถูกแผนทำ เมื่อ 3-4 ทศวรรษที่แล้วอย่างน่าเสียดาย

                    ลักษณะของหมู่บ้านทางภาคอีสานชอบอยู่ร่วมใกล้ชิดติดต่อกันเป็นกระจุก ที่ตั้งบ้านเรือนตามทางยาวลำน้ำมีน้อยไม่ค่อยเหมือนทางภาคกลางซึ่งส่วนมากตั้งตามทางยาว เพราะมีแม่น้ำ ลำคลองหรือ “บาง” มากกว่า การตั้งบ้านเรือนห่างๆ กันตามทางยาวเป็นหย่อม ๆ ทางภาคกลางกับการตั้งหมู่บ้านเป็นกระจุกอย่างทางภาคอีสาน บางทีอาจมีผลไปถึงจิตใจคนและขนบธรรมเนียมประเพณีด้วย เช่น การช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกันการทำอะไรก็ทำตามกัน ข่าวเล่าลือต่างๆ แพร่ไปเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับการตั้งบ้านตั้งเมืองนี่เอง

          หนุ่มสาวชาวอีสานเมื่อแต่งงานกันแล้ว ตามปกติฝ่ายชายจะต้องไปอยู่บ้านพ่อตาแม่ยาย ต่อเมื่อมีลูกจึงขยับขยายไปอยู่ที่ใหม่เรียกว่า “ออกเฮือน” แล้วหักล้างถางพงหาที่ทำนา ดังนั้น ที่นาของคนชั้นลูกชั้นหลานจึงมักไกลออกจากหมู่บ้านไปทุกที และเมื่อบริเวณเหมาะสมจะทำนาหมดไป เพราะพื้นที่ราบที่มีแหล่งน้ำจำกัด คนอีสานชั้นลูกหลานก็มักชวนกันไปตั้งบ้านใหม่อีก หรือถ้าที่ราบในการทำนาบริเวณใดกว้างไกลไปมาลำบาก ก็จะชักชวนกันไปตั้งบ้านใหม่ใกล้เคียงกับนาของตน ทำให้เกิดการขยายตัวกลายเป็นหมู่บ้านขึ้น

การเลือกทำเลตั้งหมู่บ้าน

ชุมชนไทย-อีสานที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในระยะแรกนั้นจะต้องเลือกทำเลที่เอื้อต่อการยังชีพของคนและสัตว์เลี้ยง โดยมีองค์ประกอบ ดังนี้

  1. แหล่งน้ำ นับเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก อาจเป็นหนองน้ำใหญ่หรือห้วย หรือกุด (ลำน้ำด้วน) หรือลำน้ำที่แยกสาขามาจากแม่น้ำใหญ่ บางแห่งเป็นเลิง ซึ่งส่วนมากมีน้ำเฉพาะฤดูฝน เป็นที่ราบลุ่มสามารถทำนาและเลี้ยงสัตว์ ได้ในบางฤดูเท่านั้น
    ชื่อหมู่บ้านมักจะขึ้นต้นด้วยคำว่า เลิง วัง ห้วย กุด หนอง และท่า เช่น เลิงนกทา วังสามหม้อ ห้วยยาง กุดนาคำ หนองบัวแดงและท่าสองคอน เป็นต้น
    2. บริเวณที่ดอน เป็นโคกหรือที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง สามารถทำไร่และมีทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ มีทั้งที่ดอนริมแม่น้ำกับที่ดอนตามป่าริมเขา แต่มีน้ำซับไหลมาเป็นหนองน้ำหรือกุด
    ชื่อหมู่บ้านมักขึ้นต้นด้วนคำว่า โคก ดอน โพน และโนน เช่น โคกสมบูรณ์ ดอนสวรรค์ โพนยางคำและโนนอุดม เป็นต้น
    3. บริเวณป่าดง เป็นทำเลที่ใช้ปลูกพืชไร่และสามารถหาของป่าได้สะดวก มีลำธารไหลผ่าน มีอาหารสมบูรณ์รวมทั้งสัตว์ป่าด้วย เมื่ออพยพมาอยู่กันมากเข้าก็กลายเป็นหมู่บ้านและมักเรียกชื่อหมู่บ้านขึ้นต้นด้วยคำว่า ดง ป่า โคกและเหล่า เช่น ดงเชียงเครือ โคกศาลา ดงเปือย (ป่าต้นเปือย) และเหล่าอุดม เป็นต้น
    4. บริเวณที่ราบลุ่ม เป็นพื้นที่เหมาะในการทำนาข้าวและทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ในหน้าแล้ง ตัวหมู่บ้านจะตั้งอยู่บริเวณขอบหรือแนวของที่ราบติดกับชายป่า อาจไม่เป็นที่สูงนักแต่น้ำท่วมไม่ถึงในหน้าฝน มีทั้งอาหารในหนองและป่าเชิงเขา บางพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มมีน้ำขังตลอดปี เรียกว่า “ป่าบุ่งป่าทาม” เป็นต้น
    5. บริเวณป่าละเมาะ มักเป็นที่สาธารณะกว้างใหญ่ สามารถใช้เลี้ยงสัตว์และหาของป่าเป็นอาหารได้ รวมทั้งสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่นำมาเป็นอาหารยังชีพตลอดถึงสมุนไพรใช้รักษาโรค อีกประการและเป็นสถานที่ยกเว้นไว้เป็นดอนปู่ตา (หรือดอนเจ้าปู่) ตามคติความเชื่อของวัฒนธรรมกลุ่มไต-ลาว ทุกหมู่บ้านในภาคอีสานจะขาดสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นอันขาด

          การสร้างบ้านเรือนเพื่ออยู่อาศัยในชุมชนไทย-อีสานมักใช้แรงงานและความคิดของผู้ชายทั้งสิ้นในอดีตแรงงานผู้ชายส่วนใหญ่จะออกปากไหว้วานเครือญาติและเพื่อนบ้านมาลงแขกช่วยกันทำงาน ทั้งยกบ้านสร้างเรือนและงานในไร่นา หรืองานอื่นที่ต้องใช้กำลังมาก เช่น งานบวช งานกินดอง (แต่งงาน) และงานศพ เป็นต้น ส่วนการทำงานภายในครัวเรือนนั้นมีหน้าที่แบ่งแยกไว้ชัดเจน เช่น การทำงาน ทำสวน เลี้ยงสัตว์ เป็นหน้าที่หลักของฝ่ายชาย ฝ่ายหญิงเป็นผู้คอยช่วยเหลือแบ่งเบาบางส่วน เช่น ปักดำและเก็บเกี่ยว นอกจากนั้น ฝ่ายชายต้องมีความรู้ในวิชาต่างๆ สามารถปลูกบ้าน ปลูกเล้า (ยุ้งข้าว) และทำจักสานเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น ข้อง คุ ตะกร้า ลอบ ไซ กระด้ง กระบุง ฯลฯ และสามารถตีมีด ตีพร้า ตีเคียวได้ ส่วนงานฝ่ายหญิงมีงานหลัก คือ ทอผ้า ทอสาด (เสื่อ) ย้อมไหม ปั่นด้าย หาบน้ำ ตำข้าว ความรู้เหล่านี้ได้รับสืบทอดต่อจากพ่อและแม่ ถ่ายทอดให้แก่ลูกสาวและลูกชายก่อนออกเหย้าออกเรือน

 

โครงสร้างและองค์ประกอบของเรือนไทยภาคอีสาน

          คำว่า “บ้าน” ในภาคกลาง มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “เรือน” หรือ “เฮือน” ในภาคอีสาน เฮือน (เรือน)  ในภาคอีสานหมายถึง ที่พักอาศัยที่มีการยกเสาสูงใต้ถุนโล่ง (มีใต้ล่าง) ซึ่งมีลักษณะใต้ถุนสูงสมกับคำกล่าวว่า ชุมชนใด “อยู่เฮือนสูง แห้นข้าวเหนียว เคี้ยวปลาร้า สักขายาว” ครบตามคำจำกัดความนี้แล้ว นั้นคือต้องเป็นกลุ่มชนในสายวัฒนธรรมไท-ลาว อย่างแน่นอน

          คำพังเพยของพงศาวดารเก่า ๆ ได้จำแนกคนอีสานไว้ว่า “ดินแดนใดเฮือนมีเสา เป่าแคน แห้นข้าวเหนียว เคี้ยวปลาแดก” แม่นของอีสาน ซึ่งก็ตรงกับชีวิตจริงของคนอีสาน แต่ก็มีเหมือนกันที่มีการปลูกสร้างอาคารที่ไม่ยกใต้ถุนสูงซึ่งเป็นประรำชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งเรียกว่า ผาม วรรณคดีของอีสานเรืองผาแดงนางไอ่ และเรื่องฟ้าแดดสูงยางก็ได้กล่าวถึงเฮือน, ผาม ไว้ในเนื้อเรื่องตลอด เช่นเรื่องผาแดงนาไอ่

          เขาก็พากันสร้าง               ผามหลวงตกแต่ง

          สูงใหญ่กว้าง                    หลายห้องต่อกัน

          หลายวันสร้าง                  ผามชัยยาวใหญ่

          เขาก็ตกแต่งไว้                  ดีถ้วนคู่ทาง

          แล้วจึงปุนแปลงให้            ใผมันฮู้ฮ่อม

          ตกแต่ง ค้ำ                         กันไว้ซู่เฮือน

           บางครวญท้าว              เห็นนางนอนฟาง

           ท้าวก็หนีห่างน้อย         หันหน้าใส่ฝา

           อำคาน้อง                      นางแพงกลิ้งใส่

           บาก็อดบ่ได้                  ลงใต้ล่างเฮือน

          นอกจากคำว่า “เฮือน”  แล้วภาคอีสานยังมีสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะการใช้สอยใกล้เคียวกัน แต่รูปแบบแตกต่างกันไป ดังเช่น

          คำว่า “โฮง” หมายถึง ที่พักอาศัยที่ใหญ่กว่า “เฮือน” มีจะมีหลายห้อง เป็นที่อยู่ของเจ้าเมืองหรือเจ้าครองนครในสมัยโบราณ

          คำว่า “คุ้ม” หมายถึง บริเวณที่มี “เฮือน” รวมกันอยู่หลาย ๆ หลังเป็นหมู่ อยู่ในละแวกเดียวกัน เข่น คุ้มวัดเหนือ คุ้มวัดใต้ และคุ้มหนองบัว เป็นต้น

          คำว่า “บ้าน” หมายถึง กลุ่มของเฮือนที่มีหลาย ๆ คุ้ม รวมกันเป็นหมู่บ้าน เช่น บ้านกุดปลาดุก บ้านโนนหมากมุ่น และบ้านหนองหญ้าปล้อง เป็นต้น

          คำว่า “เย่า ย้าว หรือ เหย้า” หมายถึง กระต๊อบ เรือนเล็กๆ ไม่มั่นคงแข็งแรง

          คำว่า “ตูบ” หมายถึง กระท่อมที่ปลูกไว้เป็นที่พักชั่วคราว มุงด้วยหญ้าหรือใบไม้

          คำว่า “ผาม” หมายถึง ปะรำที่พักชั่วคราวมุงด้วยผ้า หญ้า หรือใบไม้

          คำว่า “เถียง”  หมายถึง โรงเรือนที่ปลูกไว้เพื่อเฝ้าพืชผล เรียกเถียง ปลูกไว้ที่นา เรียก “เถียงนา”

          ชาวอีสาน มีความเชื่อในการสร้างเรือนให้ด้านกว้างหันไปทางทิศตะวันออกและตะวันตก ให้ด้านยาวหันไปทางทิศเหนือและทิศใต้ ซึ่งเป็นลักษณะที่เรียกว่า วางเรือนแบบ “ล่องตะเว็น” (ตามตะวัน) เพราะถือกันว่าหากสร้างเรือนให้ “ขวางตะเว็น” แล้วจะ “ขะลำ” คือ เป็นอัปมงคล ทำให้ผู้อาศัยไม่มีความสุขนั้นเอง บริเวณรอบ ๆ เรือนไม่นิยมทำรั้วเพราะเป็นสังคมคณาญาติ มักทำยุ้งข้าวไว้ใกล้เรือน บางแห่งทำเป็นเพิง  (หรือเทิบ) ต่อจากเล้าข้าว มีเสารับ มุงด้วยหญ้า หรือแป้นไม้เพื่อเป็นที่ติดตั้งครกมอง (ครกกระเดื่อง) ไว้ตำข้าว หรืออาจใช้เป็นที่วางแคร่เพื่อนอนเล่นและพักผ่อนเช่นเดียวกับใต้ถุนบ้านซึ่งเป็นบริเวณที่มีการใช้สอยมากที่สุดเรียกว่า เกือบตลอดวันเลยที่เดียว มีตั้งแต่หูกไว้ทอผ้า ตั้งกี่ทอสาด ตั้งแคร่ไว้ปั่นหลา  (ปั่นด้าย) ปั่นอิ้ว (หีบฝ้าย) ดีดกะเพียด (ดีดฝ้ายเป็นปุย) และเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานก็สามารถผูกเปลผ้าขาวม้าไว้ใกล้ ๆ กันนั้นเอง นอกจากนั้นแล้วใต้ถุนยังใช้เก็บไหหมักปลาร้า กั้นเป็นคอกสัตว์เลี้ยง เก็บเครื่องมือเกษตรกรรม และใช้จอดเกวียน หรือล้อก็ย่อมได้

          ส่วนบริเวณบนเรือนที่เป็นชาดแดดนั้นจะมีส่วนหนึ่งนกเป็นฮ้างแอ่งน้ำ (ที่วางหม้อดินใส่น้ำดื่ม) ใกล้ๆ กันนั้นจะทำเป็นห้างปลูกพลูหรือผักสวนครัว อาจใช้กระบะ (ภาชนะก้นทะลุ) หรือต้นตาลขุดเป็นรางใส่ดินปลูกต้นหอม สะระแหน่ ยี่หรา โหระพา ผักชีลาว หรือผักแห้ว (ภาคเหนือเรียก ผักไผ่ ภาคใต้เรียก จันหอม) สามารถนำไปใช้ประกอบอาหารอาหารพื้นบ้านได้ เหตุที่ปลูกผักไว้ใกล้ฮ้างแอ่งน้ำเพราะส่วนใหญ่เวลาดื่มน้ำแล้วน้ำที่เหลือแต่ละครั้งจากการกระบวยก็จะเทราดลงไปบนอ้างผักโดยไม่ได้ตั้งใจ

 การวางผังห้องในเรือนอีสาน

การจัดวางแผงผังของห้องและองค์ประกอบอื่นๆ ในเรือนอีสาน มีดังนี้

  1. ตัวเรือนนอนใหญ่ จะวางจั่วรับทิศตะวันออก- ทิศตะวันตก (แบบล่องตะเว็น) ประตูเข้าตัวเรือนนอนใหญ่มกมี 2 ประตู การนอนจะหันไปทางทิศใต้หรือทิศเหนือ ห้องของพ่อและแม่อยู่กลาง ห้องนอนของลูกสาว (ห้องส้วม) อยู่ทางทิศตะวันตก ส่วนห้องเปิงเป็นที่นอนของลูกชาย และมีหิ้งพระเครื่องรางของขลังนั้นจะอยู่ด้านทิศตะวันออก
  2. เรือนแฝด เรือนโข่งหรือเกย ส่วนใหญ่จะอยู่ทางทิศใต้หรือทิศเหนือของตัวเรือนนอนใหญ่
  3. ชานแดด เป็นบริเวณนอกชานเชื่อมระหว่างเรือนเกย เรือนแฝด หรือเรือนโข่งกันเรือนไฟ (ครัว) มีบันไดขึ้นตอนหน้าเรือน มีฮ้างแอ่งน้ำอยู่ขอบของชานแดด (ส่วนใกล้เรือนไฟ) ในบางเรือนที่มีบันไดขึ้น-ลงทางด้านหลัง (เพื่อการขนน้ำใส่ตุ่ม) จะมีชานมนลดระดับลงไปเล็กน้อย โดยอยู่ด้านหน้าของเรือนไฟ เพื่อใช้เป็นที่ล้างภาชนะ ตั้งโอ่งและวางกระบะปลูกพืชผักสวนครัวต่างๆ โครงสร้างของชานแดดจะแยกอิสระออกจากเสาของเรือนใหญ่ สามารถขยายออกได้ทั้ง 4 ด้าน
  4. เฮือนไฟ (ครัว) ส่วนมากจะเป็นเรือน 2 ช่วงเสา มีจั่วโปร่งเพื่อระบายควันไฟ และฝานิยมใช้ไม้ไผ่สานลายมวย (ลายทแยง) หรือลายกัน (ลายขัด) เพื่อระบายความร้อนเช่นกัน

 

พื้นที่ใช้สอยของเรือนอีสาน

เรือนอีสาน มีองค์ประกอบเป็นพื้นที่ใช้สอยต่างๆ ดังนี้

  1. เรือนนอนใหญ่ ส่วนมากจะมีความยาว 3 ช่วงเสา เรียกว่า “เรือนสามห้อง” ใต้ถุนโล่ง ชั้นบนแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
    • ห้องเปิง เป็นห้องนอนของผู้ชาย มักไม่กั้นห้อง ด้านหัวนอนมีหิ้งประดิษฐานพระพุทธรูปหรือสิ่งเคารพบูชา เช่น เครื่องรางของขลัง เป็นต้น
    • ห้องพ่อแม่ อาจกั้นเป็นห้องหรือบางทีก็ปล่อยโล่งก็มี
    • ห้องนอนลูกสาว มีประตูเข้า มีฝากั้นมิดชิด หากมีลูกเขยก็จะให้นอนในห้องนี้ อีสานเรียก “ห้องส่วม”

ชั้นล่างของเรือนนอนใหญ่อาจใช้สอยได้อีก ดังนี้

  • กั้นเป็นคอกวัวคอกควาย
  • ตั้งแคร่นอนพักผ่อนในตอนกลางวัน และทำหัตถกรรม จักสาน ถักทอของสมาชิกในครอบครัว
  • เก็บอุปกรณ์การทำนาทำไร่ เช่น จอบ เสียม ไถ คราด และเกวียน หรือล้อลากเข็ญ
  • เก็บอุปกรณ์การจับสัตว์หรือดักสัตว์ประเภทต่างๆ เช่น ลอบ ไซ กะชัง ข้อง ตุ้ม เป็นต้น
  1. เกย (ชานโล่งมีหลังคาคลุม) เป็นพื้นที่ลดระดับลงมาจากเรือนนอนใหญ่ มักใช้เป็นที่รับแขกนั่งรับประทานอาหาร และใช้เป็นที่หลับนอนของลูกชายและแขกเหรื่อที่กลับมาจากงานบุญในตอนค่ำคืน ส่วนใต้ถุนจะเตี้ยกว่าปกติ จึงอาจเป็นที่เก็บฟืนหรือสิ่งของที่ไม่ใหญ่โตนัก
  2. เรือนแฝด เป็นลักษณะเรือนทรงจั่วเช่นเดียวกับเรือนนอน แต่หากเรือนแฝดลดพื้นที่ลงมากกว่าเรือนนอนช่างมักเสริมเสามารับคานไว้อีกแถวหนึ่งต่างหาก
  3. เรือนโข่ง เป็นลักษณะเรือนทรงจั่ว เช่นเดียวกับเรือนนอนใหญ่ แต่จะต่างกว่าเรือนแฝดตรงที่โครงสร้างของเรือนโข่งจะแยกออกจากเรือนนอนโดยสิ้นเชิง สามารถรื้อถอนออกไปปลูกใหม่ได้โดยไม่กระทบกระเทือนต่อเรือนนอน การเชื่อมต่อของชายคาทั้ง 2 หลัง ใช้ฮังริน (รางน้ำ) โดยใช้ไม้กระดาน 2 แผ่นต่อกันเป็นรูปตัววีแล้วอุดด้วยชันผสมขี้ซี่ ในกรณีที่เรือนไม่มีครัว (เรือนไฟ) ก็สามารถใช้พื้นที่ส่วนเรือนโข่งนี้ทำครัวชั่วคราวได้

 

รูปแบบของเรือนอีสาน

รูปแบบของเรือนอีสาน แบ่งได้ตามประเภทของการพักอาศัย ดังนี้

  1. ประเภทชั่วคราว หรือใช้เฉพาะบางฤดูกาล เช่น เถียงนา หรือเถียงไร่ ส่วนใหญ่จะยกพื้นสูงเสาใช้ไม้จริงส่วนโครงใช้ไม้ไผ่ หลังคามุงหญ้าหรือมุงด้วยแป้นไม้ที่รื้อมาจากเรือนเก่า พื้นไม้ไผ่สับฟาก ไม่นิยมกั้นฝา หากว่าไร่นาอยู่ไม่ไกลจากเรือนพักสามารถไป-กลับได้ภายในวันเดียว หากต้องค้างคืนก็มักกั้นฝาด้วยแถบตอง คือ สานไม้ไผ่เป็นตารางขนาบใบตองชาด (ต้นเหียง) หรือใบกุง (ต้นพลวง) ทนได้ราว 1-2 ปี ก็รื้อซ่อมใหม่ได้โดยง่าย อนึ่ง เถียงนาที่ต้องไปพักพิงอยู่ในช่วงเวลาค่อนข้างนาน เช่น ขณะปักดำหรือเก็บเกี่ยว เจ้าของมักกั้นเป็นส่วนเรือนไฟ (ครัว) และต่อเติมคอกสัตว์เลี้ยงไว้ใต้ถุน ขนอุปกรณ์ในการกินอยู่ตลอดจนลูกเล็กเด็กแดงไปอยู่ จนดูประหนึ่งเป็นเรือนพักถาวรเลยทีเดียว
  2. ประเภทกึ่งถาวร ชนิดที่เรียกว่า “เรือนเหย้า” หรือ “เฮือนย้าว” หรือ “เย่าเรือน” ซึ่งหมายถึงกระท่อมหรือเรือนขนาดเล็กที่ไม่มั่นคงแข็งแรงนัก เป็นการเริ่มต้นชีวิตของการครองเรือนและค่อย ๆ เก็บหอมรอมริบไปสู่การมีเรือนถาวรในที่สุด การเลือกวัสดุมาก่อสร้างมักไม่พิถีพิถันนัก อาจเป็นแบบ “เรือนเครื่องผูก” หรือเป็นแบบผสมของ “เรือนเครื่องลับ” ก็ได้ ด้วยเหตุนี้จึงไม่คำนึงถึงพิธีกรรมในการสร้างและการเข้าอยู่อาศัยเท่าใดนัก การเตรียมพร้อมที่จะมี “เย่าเรือน” ประเภทนี้ คงต้องเป็นเขยของบ้านที่เริ่มแยกตัวออกไปจากเรือนใหญ่ (เรือนพ่อแม่) ในแง่ทางความเชื่อแล้วในเรือนหลังเดียว ไม่ควรให้ครอบครัวของพี่น้องอยู่ร่วมกันหลายครอบครัวในบ้านหลังหนึ่ง ๆ ควรมีครอบครัวใหม่หรือเขยเดียวเท่านั้น (ตามวัฒนธรรมไทย-อีสาน ในการเอาเขยเข้าบ้าน) ถ้าหากมีเขยมากกว่าหนึ่งคนมาอยู่ร่วมชายคาเดียวกันแล้วก็จะเกิด “ขะลำ” คือจัญไร ตามคำพังเพยที่ว่า “นาสองเหมือง เมืองสองท้าว เหย่าสองเขย”

เรือนเหย้าที่จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์บ้านอีสาน สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช สถานีปฏิบัติการนาดูน

  • เรือนเหย้ากึ่งถาวรชนิด “ตูบต่อเล้า” เป็นการก่อสร้างที่ไปอิงเข้ากับตัวเล้าข้าวซึ่งมีอยู่เกือบทุกครัวเรือน ทำเป็นลักษณะคล้ายเพิง (อีสาน เรียก “เทิบ”) แบบเพิงหมาแหงนทั่วไป ด้านสูงจะไปอาศัยโครงสร้างของเล้าข้าวเป็นตัวยึดต่อ หลังคาลาดต่ำลงไปทางด้านของเล้า แล้วใช้เสาไม้จริงตั้งรับเพียง 2-3 ต้น (เพราะเล้าข้าวขนาดธรรมดาทั่วไป ยาวประมาณ 2-3 ช่วงเสา ซึ่งไม่เกิน 6 เมตร) มุงหลังคาด้วยหญ้าหรือสังกะสี ยกพื้นเตี้ย ๆ กั้นฝาแบบชั่วคราว อาจใช้วัสดุที่เหลือหรือซื้อใหม่ เช่น สังกะสีเก่า ๆ หรือฝาแถบตองหรือเป็นแป้นไม้ (กระดานไม้) เก่า ๆ มาแอ้มไว้พอเป็นสัดส่วน จะได้อาศัยกันต่อไปก่อนสักระยะหนึ่ง พอตั้งตัวได้ก็จะย้ายไปปลูกเรือนใหญ่ถาวรอยู่เอง ตรงส่วนที่เป็น “ตูบต่อเล้า’ หลังนี้ก็ทิ้งให้เป็นที่นอนเล่นยามหน้าร้อนของพ่อแม่ใหญ่ต่อไป
  • เรือนเหย่ากึ่งถาวรชนิด “ดั้งต่อดิน” เป็นคำเรียกของชาวไทย-อีสาน หมายถึง ตัวเสาดั้งจะฝังถึงดิน และใช้ไม้ท่องเดียวตลอดสูงขึ้นไปรับอกไก่ เป็นเรือนพักอาศัยที่แยกตัวออกจากเรือนใหญ่ ทำนองเดียวกับ “ตูบต่อเล้า” แต่จะดูเป็นสัดส่วนดีกว่า ขนาดของพื้นที่ค่อนข้างน้อยมาก กว้างไม่เกิน 2 เมตร ยาวไม่เกิน 5 เมตร นิยมทำ 2 ช่วง ที่ทำ 3 ช่วงก็มี วิธีสร้างมักใช้โครงสร้างเหมือนกับเรือนเครื่องผูกตัวเสาและเครื่องบนนิยมใช้ไม้จริงทุบเปลือก โดยเฉพาะกลอนมักใช้ไม้ “ค้อแลน” ซึ่งมีขนาดพอเหมาะเมื่อทุบเปลือกแล้วใช้ได้ทันที หลังคามักใช้วัสดุในท้องถิ่น คือ มุงด้วยหญ้าคาที่กรองเป็นตัวตับแล้วเรียก “ไพหญ้า” หรือไม่ก็ใช้แป้นไม้ที่รื้อมาจากเรือนใหญ่ ซึ่งมักเป็นไม้แคน (ตะเคียน) เป็นไม้เนื้อแข็งที่ใช้งานได้อีกหลายปี ฝาเรือนมักใช้ฝาแถบตอง โดยใช้ใบกุงหรือใบชาดมาประกบด้วยไม้ไผ่สานโปร่งเป็นตาราง หรือทำเป็นฝาไม้ไผ่สับฟากสานลายมวย (ลายสองทแยง) หรือลายหัน (ลายขัด) หรือลายคุบ (ลายสอง) ตามแต่สะดวก หรือจะเป็นฝาขัดแตะและฝาแอ้มฟาก คือ นำไม้ไผ่เฉาะปล้องออกแล้วสับให้แผ่ออกเป็นแผง มีไม้คร่าวนอนเป็นตัวรัดยาวตลอดฝา พื้นนิยมใช้พื้นสับฟาก หรือใช้แผ่นกระดานปูลองโดยใช้ไม้ไผ่ผ่าซีกมามัดขนาบกับแผ่นกระดานขยับเลื่อนหรืออาจใช้ไม้กว้างไม่เกิน 2 นิ้ว มาวางเรียงแล้วมัดด้วยเครือซูด (เถาวัลย์ชนิดหนึ่ง) เป็นลักษณะคล้ายพื้นแคร่
  • เรือนเหย้ากึ่งถาวรชนิด “ดั้งตั้งคาน” เป็นเรือนลักษณะคล้ายกับเรือนเกยทั่วๆ ไป แต่จะพิถีพิถันน้อยกว่า ยังอยู่ในประเภทของเรือนเครื่องผูก จะมีความแตกต่างจากเรือน “ดั้งต่อดิน” ตรงที่เสาดั้งต้นกลางจะลงมาพักบนคานของด้านสกัดไม่ต่อลงไปถึงดิน หรืออาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ดั้งต่อขื่อ” หากตัวดั้งลงมานั่งบนขื่อโดยไม่ต้องลงมานั่งบนคาน ซึ่งเป็นโครงสร้างที่นิยมใช้กันมากเช่นกัน ส่วนการใช้วัสดุมุงหลังคา ฝาและพื้นเรือนนั้นก็ใช้เช่นเดียวกับเรือนประเภท “ดั้งต่อดิน”
  1. ประเภทถาวร มีความแตกต่างจากเรือนกึ่งถาวร ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็น “เรือนเครื่องสับ” จะสังเกตได้จากการเลือกวัสดุ รูปแบบของการก่อสร้าง ประโยชน์ของการใช้สอยและความประณีตทางช่างอาจจำแนกเรือนถาวรภาคอีสานออกได้เป็น 3 ชนิด ดังนี้
    • เรือนใหญ่ หรือ เฮือนเกย มีเอกลักษณ์สำคัญ คือ มีเฮือนใหญ่ขนาด 3 ห้องเสา มีลักษณะใต้ถุนสูง มีหลังคาจั่ว (ผู้ไทยเรียก “เรือนหัวลอย”) คลุมและมีเกยหรือชานโล่ง เสาใช้ไม้กลม 8 เหลี่ยม หรือเสา 4 เหลี่ยม มีหลังคาคลุมส่วนนี้เองที่เป็นที่มาของคำว่าเกยโดยเรียกลักษณะหลังคาที่มาเกยคลุมชานบริเวณนี้ ตัวเรือนประกอบด้วย

เรือนใหญ่ชาวนาอีสาน

เรือนใหญ่ชาวนาอีสานหลังนี้เป็นเรือนที่สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวชซื้อมาจากนายเคน ชมระกา
(เกิดเมื่อ พ.ศ. 2455) และนางจันทร์ ชมระกา(เกิดเมื่อ พ.ศ. 2463) เดิมเป็นบ้านเลขที่ 34
หมู่ที่ 2 บ้านสมสะอาด ตำบลบัวขาว อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ในราคา 65,000 บาทนับว่า เป็นเรือนหลังแรก ในพิพิธภัณฑ์บ้านอีสาน

  • เรือนใหญ่ มักเป็นเรือน 3 ห้อง (มี 3 ช่วงเสา) มีหน้าต่างแต่ละช่วงเสา มีประตูเข้า 2 ประตู แบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้
  • ห้องเปิง เป็นห้องนอนของลูกชาย ฝาด้านหัวนอนทำหิ้งสิ่งเคารพบูชา เช่น พระพุทธรูป และเครื่องรางของขลัง เป็นต้น ไม่นิยมกั้นฝา
  • ห้องพ่อแม่ อาจกั้นฝาหรือไม่ทิ้งโล่ง
  • ห้องลูกสาว มีฝากั้น ใส่ประตูภคอีสานเรียกว่า “ห้องส่วม” หากมีลูกเขยก็จะให้นอนในห้องนี้

เรือนใหญ่ มักทำจั่วสูงมุงแป้นไม้ (กระเบื้องไม้) หรือดินขอ (กระเบื้องดินเผา) อาจมีชานจั่วหรือไม่มีก็ได้ ส่วนฝานั้น มีทั้งฝาแอ้มแป้น (ไม้กระดาน) ทั้งตีทับแนวนอนหรือตีทับแนวตั้ง (ลักษณะฝาสายบัว) หรืออาจจะเป็นฝาไม้ไผ่สานสาบคุบ ขึ้นอยู่กับฐานะทางการเงินของเจ้าของเรือนหลังนั้น ๆ

  • เกยหรือชานโล่ง (ที่มีหลังคาคลุม) พื้นเกย จะมีระดับต่ำกว่าพื้นเรือนใหญ่ อาจมีไม้รองเหยียบก้าวไปสู่ห้องนอน ประโยชน์ใช้สอยของเกยใช้เป็นที่รับแขก นั่งเล่น รับประทานอาหาร และอาจเป็นที่นอนของแขกต่างถิ่น พื้นเกยจะเป็นไม้กระดาน
  • ชานแดด ระดับพื้นจะลดต่ำกว่าเกยลงมา ขนาดนั่งแล้ววางขาได้พอดี ใช้ปูสาดนั่งพักผ่อนหรือรับประทานอาหารยามเย็น ชาดแดดสามารถตากสิ่งของต่างๆ ในยามกลางวัน อาจมีชาดแดดทั้งด้านหน้าและด้านหลังของเรือนใหญ่เพื่อจะได้อาศัยร่มเงาของเรือนใหญ่ ชาดแดดมีทั้งที่ทำระเบียงและไม่ทำระเบียงโครงสร้างของชานแดดจะแยกอิสระออกมาจากเฮือนใหญ่
  • เรือนไฟ (ครัว) ส่วนมากเป็นเรือน 2-3 ห้องโล่งถึงกัน หลังคงทรงจั่วมุงแป้นเกล็ดจั่วอาจตีไม้เว้นช่องให้ควันไฟลอยออกได้ ฝานิยมใช้ไม้ไผ่สับฟากขัดแตะโปร่ง เป็นลายมวยก็มี ลายหันก็มี เพื่อระยายควันและลมได้สะดวก เรือนไฟจะมีชานมนอยู่ใกล้ เพื่อประโยชน์ในการวางโอ่งน้ำ หรือล้างภาชนะต่าง ตลอดถึงตั้งกระบะใส่ดิน ปลูกผักพื้นเมืองไว้ประกอบอาหาร ส่วนใต้ถุนเรือนไฟมักจะใช้เก็บฟืนแห้ง
  • ฮ้างแอ่งน้ำ (ร้านหม้อน้ำ) ทำเป็นเพิง มีกระบังหน้ามุงเป็นไม้หรือดินขอยกระดับหม้อน้ำให้ตักน้ำดื่มได้พอดีกับสัดส่วนของคน มักจะใช้กระบวยที่ทำด้วยกะลาเป็นภาชนะตักน้ำ

                 ฮ้านแอ่งน้ำ และสวนครัวนอกชาน บ้านนาส่วน อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี

  • ชนิดเรือนแฝด มีลักษณะใต้ถุนสูงและใช้เสากลมหรือเสาเหลี่ยม เช่นเดียวกัน มีจั่วแฝดอยู่ชิดติดกันขนาดจั่วจะเท่ากัน หรือทำให้จั่วของเรือนแฝดเล็กกว่าก็ย่อมได้ แนวชายคาจะชนกัน มีฮางริน (รางน้ำ) รองรับตลอด เรือนแฝดประกอบด้วย
    • เรือนใหญ่ มักมีเรือน 3 ห้อง เช่นเดียวกับเรือนใหญ่ ชนิดเรือนเกย
    • เรือนแฝด รูปร่างและทรงจั่วทำเลียนแบบเรือนใหญ่ โครงสร้างของเรือนแฝดทั้งขื่อและคานจะฝากไว้กับเรือนใหญ่ ระดับพื้นมักจะเสมอกัน ดังนั้นเสาจะเพิ่มแต่เพียงแถวเดียวเท่านั้น ส่วนฝาก็จะทำเลียนแบบเรือนใหญ่หรืออาจทำลำลองกว่า เปิดด้านลองขื่อ (ด้านสกัด) เพื่อออกไปเชื่อมกับเกยหรือชานแดดที่ออกไปสู่เรือนไฟ
    • เกย มีลักษณะเช่นเดียวกับเกยของเรือนชนิดเรือนเกย แต่อาจจะมีหรือไม่มีส่วนนี้ก็ได้
    • ชาดแดด มีลักษณะเช่นเดียวกับชานแดดของเรือนชนิดเรือนเกย แต่ถ้าหากจะมีชานเชื่อมต่อระหว่างเรือนใหญ่กับเรือนไฟ ชาดแดดส่วนนี้จะเรียกว่า “ชานมน” ใต้ถุนของชานแดดมักเตี้ย จึงแทบไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย
    • เรือนไฟ มีลักษณะเช่นเดียวกับเรือนชนิดเรือนเกย
    • ฮ้างแอ่งน้ำ มีลักษณะเช่นเดียวกับเรือนชนิดเรือนเกย
  • ชนิดเรือนโข่ง มีลักษณะใต้ถุนสูง และใช้เสากลมหรือเสาเหลี่ยมเช่นเดียวกัน มีจั่วแฝดอยู่ติดกัน ขนาดของตัวเรือนโข่ง อาจจะทำให้ย่อมกว่าเล็กน้อย ไม่นิยมมีเกย

            เรือนโข่ง บ้านโต้น อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น

เรือนชนิดนี้ประกอบด้วย

  • เรือนใหญ่ มักเป็นเรือน 3 ห้อง เช่นเดียวกับเรือนเกย และเรือนแฝด ดังกล่าวแล้ว
  • เรือนโข่ง มักทำจั่วเลียนแบบเรือนใหญ่ ตัวเสาอยู่ห่างจากเสาเรือนใหญ่ เพราะโครงสร้างของเรือนโข่งจะแยกอิสระออกจากโครงสร้างพื้นและหลังคาของเรือนใหญ่โดยสิ้นเชิง ส่วนชายจะมีฮางริน (รางน้ำ) รองรับเช่นเดียวกัน พื้นเรือนอาจจะลดหรือไม่ลดระดับก็ได้ ผนังจะกั้นเพียงบางส่วนเพื่อให้ลมพัดผ่านได้สะดวก ที่สำคัญของเรือนชนิดนี้ก็คือ สามารถรื้อถอนเรือนโข่งออกไปปลูกใหม่ได้ทันทีเมื่อต้องการ
  • ชานแดด อาจจะมีชานแดดหรือมีชานมนเชื่อมต่อกับเรือนไฟด้วยก็ได้
  • เรือนไฟ มีลักษณะเช่นเดียวกับเรือนเกยและเรือนแฝด
  • ฮ้างแอ่งน้ำ มีลักษณะเช่นเดียวกับเรือนเกยและเรือนแฝด

โครงสร้างส่วนต่าง ๆ ของเฮือนอีสาน

ส่วนที่เป็นตัวเฮือน มีดังนี้

          เสาเฮือน เป็นส่วนฐานรากที่สำคัญของบ้านโดยปกติเฮือนใหญ่หรือเฮือนน้อย จะมีเสาไม้แก่น (ไม้เนื้อแข็ง) เช่น ไม้ประดู่ (ดีที่สุด) ไม้จิก (เต็ง) ไม้รัง ไม้พะยอม ฯลฯ ซึ่งทนทานต่อการสึกกร่อนส่วนที่ฝังดินประมาณ 3 ศอก และเหนือดินจะถูกเจาะรูใส่ขาง (คาน) ตามขนาดความสูงของใต้ถุนบ้าน (5-6 ศอก) จากรูเจาะคานถึงหัวเสาจะมีเดือน เรียกว่า หลวด สำหรับเสียบกับรูขื่อ (คานหัวเสา) ซึ่งยึดเสาให้แน่นเป็นฐานส่วนบนของหลังคา

          การวางเสาต้องทำตามหลักความเชื่อ เพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุขจึงเริ่มด้วย เสาแฮก เสาขวัญ (เสาเอก เสาโท) เสาแฮกจะถูกยกขึ้นก่อนเสาโท โดยมีการผูกสิ่งของที่เป็นสิริมงคล เช่น ต้นกล้วย อ้อย ใบคูน ใบยอ ใบยม ไซใส่เงิน อัก (เครื่องมือทอผ้า) และเครื่องรางของขลัง (บางท้องถิ่น) เป็นเสาคู่แรกที่ต้องทำพิธียกโดยผู้เฒ่าผู้แก่ตามฤกษ์ดีที่กำหนดไว้ เสาแฮกจะเอาเสาต้นที่ 3 แถวที่ 1 นับจากซ้ายไปขวาเป็นเสาแฮกส่วนเสาขวัญก็เอาเสาต้นที่ 3 แถวที่ 2 เป็นเสาขวัญการเอาเสาแฮก-เสาขวัญ ลงหลุมถือเป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธ์และสำคัญมากสำหรับผู้ที่จะปลูกเรือน เสาเฮือนอาจมี 6 ต้น (2 ห้อง) หรือ 8 ต้น (3 ห้อง) ถ้ามีเรือนแฝดอาจเป็น 12 ต้น หรือ 16 ต้น ถ้ามีเฉพาะเฮือนใหญ่กับซด (เฉลียง) กรณีเฮือนแฝดที่ใช้เสาสามแถวก็จะมี 12 ต้น (4 ห้อง) หรือ 9 ต้น (3 ห้อง)

          เสาค้ำ เป็นเสาเสริมเสาเฮือนใหญ่หรือเฮือนน้อยมีบ่าแฉกค้ำยันขาง (คาน) เพื่อให้บ้านแข็งแรงมั่นคงเสาค้ำจำเป็นมากสำหรับเฮือนใหญ่ที่มีขนาดกว้าง เพื่อช่วยให้พื้นเฮือนราบสม่ำเสมอ

          ขาง (คาน หรือ รอด) เป็นไม้หนา 3×6 หรือ 3×8 นิ้ว ที่สอดใส่รู้เสารองรับน้ำหนักพื้นเรือน วางยึดเสาเป็นคู่ ๆ ตะแคงตามแนวเหนือ-ใต้ เพราะโดยปกติบ้านจะปลูกยาวตามแนวตะวันออก – ตะวันตก

          ตง เป็นไม้ หน้า 3×4 หรือ  4×4 นิ้ว วางบนขางตามแนวยาวของบ้าน ห่างกันประมาณ 3-4 คืบ เป็นส่วนที่จะต้องเท่ากันตลอดแนวทุกตัว เพราะจะไว้วางพื้นบ้านให้ราบเสมอกัน

          แป้นเฮือน (กระดานปูพื้น) ดั้งเดิมจะเป็นไม้แผ่นขนาดใหญ่ กว้า 2-4 คืบ วางบนตงให้เสมอกันอาจมีป่อง (รู) ในส่วนที่เป็นตาไม้ หรือบางแผ่นอาจเป็นแป้นถ่อง ซึ่งต้องต่อกันด้วยแม่แข่ ซึ่งเป็นไม้สำหรับต่อกระดานพื้นที่สั้นให้ยึดกันแน่น

          กะทอด เป็นไม้ขนาด 2×8 นิ้ว สำหรับตีปิดหัวตงรับรอบเสาทั้ง 4 ด้าน ลักษณะเหมือนเข็มขัดของตัวบ้าน กะทอดยังเป็นที่ตั้งยึดไม้เซ็นที่ใช้ยึดฝาเรือนอีกด้วย

          เซ็น คือไม้สำหรับตั้งจากกะทอดและตงขึ้นไปยึดกับเซ็นนอนที่หัวเสาสำหรับผูกติดฝาบ้าน

          แป้นแอ้มหรือฝาแอ้ม (ฝาบ้าน) อาจจะเป็นไม้กระดานวางตามแนวนอนทับเหลื่อมกันจากล่างขึ้นบนภายหลังมีแอ้มแนวตั้ง ถ้าไม่มีแป้นแอ้มหรือฝาไม้ มักจะแอ้มด้วยฝาลายคุบซึ่งเป็นลายฝาบ้านที่สานได้หนาแน่นแข็งแรง หรือยากจนจริงๆ อาจแอ้มด้วยฝาแถบตอง (ตองซาดหรือตองกุง)

          ป่องเอี้ยม (หน้าต่าง) เฮือนอีสานมักจะทำหน้าต่างเล็กๆ เพียง 3-4 ช่อง ขนาดเล็ก พอที่จะเปิดมองข้องนอกได้ นอกจากเจ้าของบ้านเป็นอาจทำป่องเอี้ยมให้มีช่องลมสลักลวดลายให้สวยงาม

          ส่วนที่เป็นหลังคาเฮือน มีดังนี้

          ดั้ง เป็นไม้ขนาด  3×4 นิ้ว ด้านโคนทำเป็นเดือยขนาดใหญ่ที่จะเสียบลงรูกลางขื่อทุกตัวปลายบนจะบากเป็นสามเหลี่ยมเป็นที่วางอกไก่ ไม้อกไก่ทุกตัวต้องแข็งแรงยาวเท่ากัน ถ้าจั่วแหลม ดั้งก็ยาว ถ้าจั่วแบนดั้งก็สั้น ดั้งจึงเป็นตัวกำหนดรูปหน้าจั่วบ้าน

          เอิกไก่ (อกไก่) เป็นไม้สามเหลี่ยม 4×4 นิ้ว เพื่อวางบนปลายดั้ง โดยเอาเหลี่ยมลงบนบ่าสามเหลี่ยมของดั้ง เจาะรูตอกเดือยด้านบนหรือด้านข้างให้เหลี่ยมใดเหลี่ยมหนึ่งขึ้นด้านบน พร้อมที่จะเป็นสันหลังคา บางเฮือนอาจใช้อกไก่สามเหลี่ยม โดยวางฐานสามเหลี่ยมกับปลายดั้ง

          สะยัว (จันทัน) คือไม้ประกอบสองข้างของโครงจั่วทุกปลายดั้ง สั้นหรือยาวล้วแต่ขนาดชายคาที่ต้องการ ถ้าเป็นเฮือนที่มุงด้วยหญ้าอาจมีสะยัวเสริมระหว่างดั้งก็ได้

          สะยัวยิง คือ ไม้ที่ตียึดระหว่างจั่วกับจั่วที่ติดอยู่กับแต่ละดั้งให้แข็งแรง หรืออาจตียึดระหว่างจั่วกับโคนดั้งแล้วแต่กรณี

          เคร่า (แป) เป็นไม้พาดบนสะยัวให้เป็นที่วางวัสดุมุงหลังคา ถ้าเป็นการมุงด้วยหญ้า จะใช้เคร่าถี่ ถ้าเป็นการมุงด้วยกระเบื้องดินขอ เรียกไม้ระแนง เป็นไม้เคร่าใหญ่และหนาจึงตีไม้ไผ่ถี่เพื่อใช้ของกระเบื้องเกาะเป็นแถว เหลื่อมสลับกันรั่ว ถ้ามุงสังกะสีหรือกระเบื้องสมัยใหมี่เคร่าจะห่าง

          ปั้งลม คือไม้ที่ติดปิดกระเบื้องและปลายเคร่าหรือแปให้ดูเรียบร้อย สามเหลี่ยมด้านบนจะมีปลายปั้นลมเป็นไม้เหลากลมเรียวหรือปลายลูกน้ำเต้า ตีติดตรงปลายสุดของปั้นลมคล้ายกาแลของภาคเหนือ

ปั้นซ้าย (เชิงชาย) เป้นไม้แผ่นบางขนาด 1×6 นิ้ว ที่ปิดปลายสะยัวและวางรองวัสดุมุงหลังคารอบเฮือนมักจะใช้ไม้เนื้อแข็งทนแดลมและฝนเป็นส่วนกอบที่ทำให้หลังคาบ้านสวนงาม เฮือนบางหลังอาจติดแผ่นไม้ฉลุลายได้ด้านล่างทำให้สวยงามยิ่งขึ้น

          แขนนาง เป็นลักษระไม้ค้ำยันไม้สะยัว ซึ่งยื่นออกไปมากให้แข็งแรง บางทีก็ยันเชิงชาบเป็นระยะ ๆ สลักกันเพราะหลังคาเฮือนอีสานจะลาดเอียงมากคลุมรอบบ้านกว้างเพื่อคุ้มแดดคุ้มลมชายคาจึงต้องมีไม้ค้ำยันเรียกเสียโก้ว่าแขนนาง ถ้าเป็นโบสถ์อีสานเทียบได้กับคันทวย มักจะทำตั้งฉากกับต้นเสาทุกต้น

ซานจั่ว (กันสาดใต้จั่ว) เฮือนอีสานมีกจะมีส่วนที่เป็นหลังคารอบบ้านรวมทั้งใต้หน้าจั่วเรียกซานจั่วเป็นส่วนที่ตั้งคุ้มแดดคุ้นฝนทิศตะวันออก-ทิศตะวันตก

สีหส้าเฮือน เป็นส่วนที่บ่งบอกว่าเจ้าของบ้านมีฝีมือเพียงใด เป็นแผงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ซึ่งทำเป็นลวดลาย อาจทำด้วยไม้รูปลายตะเว็น (ตะวัน) มีวงกลมอยู่ฐานล่างทำไม้แนบซ็อนกันจากตรงกลางออกสองข้าง ขอบไม้ฝาจะบานออกเหมือนแสงตะวันสวยงาม หรือจะเป็นการแอ้มฝาด้วยการตั้ง-นอนเหมือนฝาบ้านธรรมดาก็ได้ ที่สำคัญกันแดดฝนและลมได้อย่างดี

หลังคา หลังคาบ้านเปรียบเสมือนทรงผมของผู้หญิงที่ต้องสวยและหสมกลมกลืนกับส่วนอื่นๆ ของบ้าน เดิมมุงบด้วยไพหญ้าคา จ้ะต้องเปลี่ยน 5-6 ปีต่อครั้ง บางแห่งก็ใช้หญ้าแฝก ทำเป็นไพหญ้ายาว 1 วา ติดกับไม้ก้านหญ้าซึ่งหาได้จากป่า เป็นไม้ที่มอดไม่เจาะปลวกไม่กิน เช่น ไม้คันจ้อง ไม้ดักดำ ฯลฯ มุงให้แน่นหนาจะอยู่ได้ถึง 7-8 ปี การมุงด้วยหญ้าคาจะมีส่วนดีนอกจากกันฝนกันแดดได้แล้วยังเย็นสบาย หรือเมื่อลมพันแรงก็เผยอขึ้นให้ลมผ่านไปได้ ไม่ปลิวหนีเหมือนสังกะสีในปัจจุบัน เมื่อลมสงบ จัดเข้าที่ก็กันฝนกันแดดได้เหมือนเดิม “หลังคา” สันนิษฐานว่ามาจากบ้านมุงด้วยหญ้าคานี่เอง บ้านอีสานบางส่วนมุงด้วยแผ่นไม้ขนาดกว้างคริ่งคืบ ยาว 7-8 นิ้ว ทั้งการมุงด้วยไม้จะมีแกหรือระแนง ทำด้วยไม้ไผ่แช่น้ำ 2-3 เดือน หรือไม้เนื้อแข็ง วางทับจันทันแล้วจึงนำแผ่นดินหรือไม้มุงจากด้านล่างสุด ขึ้นไปหาสันหลังคา ส่วนสันหลังคาจะมีการหลบด้วยแผ่นโลหะหรือหญ้าคา กรณีทีมุงด้วยหญ้าคาและไม้ ส่วนการมุงด้วยดินจะหลบด้วยดินโกบ (ครอบสัน) ซึ่งปั้นขึ้นเป็นพิเศษเพื่อไม้ให้บ้านรั่ว

ฝ้าเพดาน โดยปกติเฮือนอีสานจะไม่มีฝ้าเพดาน นอกจาใช้ฝาหรือแผ่นไม้ตีเป็นฝ้าเพียงบางส่วนเพื่อเก็บสิ่งของบางอย่างเป็นการชั่วคราวตามฤดูกาล

การปลูกเฮือน (ปลูกบ้าน)

          ชาวอีสานมีพื้นฐานความเชื่อผสมผสานอยู่ระหว่างพุทธศาสนา พรหมณ์ ผี และธรรมชาติ การปลูกบ้านสร้างเฮือนมีพิธีการมากมาย ต้องหาฤกษ์งามยามดี ในวันจันทร์ พุธ พฤหัส เป็นวันดี เดือนอ้าย เดือนยี่ เดือนสี่ เดือนหก เดือนเก้า เดือนสิบสอง และยังคงมีคติความเชื่องต่างๆ อีกมากมาย ถ้าหากวิเคราะห์ดูให้ลึกซึ้ง ความคิด ความเชื่อเหล่านี้ คือ กลยุทธ์เหมือนกับชาวจีนเชื่อเรื่อง ฮวงจุ้ย เพราะคนมีครอบครัวกว่าจะมีบ้านมีเรือนได้เป็นความยากเย็นแสนเข็ญ ต้องตัดไม้ถากเสาไปจนถึงไพหญ้าปั้นดินเอง เลื้อยไม้ไสกบทำทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับโครงสร้างเสร็จเกือบทั้งหมด โดยมีผู้เฒ่าผู้แก่ให้คำปรึกษาแนะนำ เมื่อพร้อมแล้วจึงขอแรงลงแขกปุกเฮือนจากเพื่อบ้านเฉพาะส่วนที่เป็นเฮือนใหญ่-เฮือนน้อย และเฮือนครัวส่วนมากจะใช้เวลา 1-2 วันเท่านั้น ในสมัยก่อนไม่ใช้ตะปูส่วนใหญ่จะเจาะและเข้าเดือย ซึ่งเจ้าของบ้านจะเตรียมไว้แล้ว จึงยกหรือปุกได้ทันที หลักจากทำพิธียกเสาเอก-เสาโท ลงหลุมแล้วตั้งแต่ฤกษ์ดีในวันก่อนหรือเช้าวันเดียวกัน การลงแขกปลูกเฮือนเป็นเวลาที่ผู้ชายชาวอีสานจะแสดงฝีมือและเรียนรู้ร่วมกัน ส่วนผู้หญิงในหมู่ญาติใกล้เรือนเคียง จะมาเป็นผู้ร่วมทำกับข้าวเลี้ยงแขก จึงเป็นโอกาสที่จะได้กินต้มไก- ลาบไก่ของเจ้าของบ้านในโอกาสลงแขกปลูกเฮือนนี้ด้วย นับเป็นประเพณีที่ดีมากที่สูญหายไปพร้อม ๆ กับบ้านดั้งเดิมของอีสาน ในชั้นกลังอาจมีการลงแขกจ้างเข้ามาแทนที่และเป็นการจ้างช่างสร้างบ้านในปัจจุบันด้วยช่างชุดต่างๆ พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบบ้าน วัสดุก่อสร้างซึ่งมีทั้งงานไม้ งานปูน ผสมผสานกันอยู่ด้วย ในสมัยโบราณเมื่อชาวบ้านมายกบ้านหรือลงแขกปุกเฮือนให้แล้ว พ่อและลูกหลานในบ้านจึงช่วยเหลือเรื่องอาหารการกินขของผู้หญิง การปลูกเฮือนจึงเป็นกิจการที่ทุกคนมีการเรียนรู้ตามอัธยาศัยที่ยอดเยี่ยมมากของคนในชุมชน เป็นทุนทางสังคมอย่างหนึ่งที่ทำให้ชายหนุ่มอีสานเป็นช่างกันได้แทบทุกคน จนพัฒนาสู่การเป็นช่างก่อสร้างบ้านเรือนและอาคารสมัยใหม่ ทั้งในพื้นที่อีสาน ในกรุงเทพฯและต่างประเทศอยู่ในปัจจุบัน

คติความเชื่อและประเพณีการขึ้นเฮือนใหม่

          สำหรับคติความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับเรือนอีสานนี้ค่อนข้างมาก เริ่มตั้งแต่การหาเสาการเลือกสถานที่ การขุดหลุมเสา การยกเสา การวางตัวอาคาร การถือฤกษ์ปลูกเรือน การขึ้นเรือนใหม่ ดังที่ สุวิทย์ จิระมณี (2545: 129-131) อธิบายไว้สรุปดังนี้

          พิธี “ขึ้นเฮือนใหม่” เป็นพิธีที่จัดขึ้นเมื่อสร้างเรือนเสร็จแล้ว จะมีการหาฤกษ์วันดีมีมงคลตามคติเป็น วันพุธ วันพฤหัสบดี และวันศุกร์ วันใดวันหนึ่งที่เหมาะสม โดยจะเชิญผู้เฒ่าผู้แก่พาครัวเรือนไว้บนเรือนให้เรียบร้อย จากนั้นแบ่งคนออกเป็นสองพวก พวกหนึ่งเป็นเจ้าของเรือนที่จะต้องเตรียมใบตอง กล้วย มาวางลง

 โดยมีก้อนหินทับไว้ และเตรียมหม้อน้ำสำหรับล้างเท้าตั้งไว้ขวามืออยู่หน้าบันได ส่วนอีกพวกหนึ่งถือและหาบสิ่งของที่มาค้ำมาคูณ โดยมีผู้เฒ่าคนหนึ่งเดินนำหน้าใส่กบเกิ้ง (ใส่หมวก) พายถง (สะพายถุง) ในถุงมีสิ่ว ค้อน เขา นอ งา และแก้วแหวนเงินทองนำหน้าพวกหนุ่มสาวและเด็กๆ ที่ถือหาบสิ่งของเครื่องใช้เดินตามหลัง เวียนขวารอบเรือน 3 รอบ แล้วมาหยุดที่บันได ฝ่ายเจ้าเรือนยืนคอยทักทายไถ่ถามท่าทางขึงขังจริงจังในช่วงแรก ต่อมาเสียงเริ่มอ่อนลง โดยมีคำทักทายดังนี้

          ถาม             เฮ้ย พวกนี้หาบกระดอนคอนกะต่าขนสิ่งของมาแต่ใสนอ

          ตอบ            โอย พวกข้าน้อยมาแต่เมืองมั่นคำพอง

ถาม             โอ ได้ยินว่าลูกหลานปลูกเฮือนใหม่ใส่หญ้าเต็ม ว่าซิมาค้ำมาคูณ ให้อยู่ซุ่มกินเย็นให้อยู่ดีมีแฮง ความเจ็บบ่ให้ได้ความ ไข้บ่ให้มี บ่ให้อึดให้หยาก บ่ให้ขาดให้เขิน ทุกคันทุกแนวแล้ว จึงได้พากหันมาดอก

ถาม             เออ คันซิมาค้ำมาคูณ อยู่ดีมีแฮงให้อยู่ซุ่มกินเย็นความเจ็บบ่ได้ ความไข้บ่มี ก็ดีแล้วเพิ่นได้หยังมาหนอ (น้ำเสียงอ่อนลง)

          ตอบ            ได้มาพร้อมทุกอันทุกแนวหั้นแล้ว

          ถาม             กุบส่องฟ้า ผ้าส่องดาว ได้มาพร้อมบ่นอ

          ตอบ            ได้มา

          ถาม             ข้อยข้าหญิงชายได้มาพร้อมบ่นอ

          ตอบ            เออได้มา คือว่า ข้อยหญิง ข้อยชาย ผ้าผ่อน ท่อนสไบเข้าน้ำ ซ้ามปลา มีด พร้า แหลนหลาน แก้วแหวน เงิน คำ ได้มาพร้อมเหมิดทุกอัน

          ถาม             ช้าง ม้า วัว ควาย ได้มาบ่

          ตอบ            ได้มา

          ถาม             ของอยู่ของกิน เป็นเนื้อเถิกเอิกลาย ได้มานำบ่

          ตอบ            ได้มา

          ถาม             แหลูกทอง มองลูกกั่ว ได้มาบ่

          ตอบ            ได้มา

          ผู้ถามพูดต่อไปว่า เอา คั่นเพิ่นได้มาทุกสิ่งทุกอย่าง เพิ่มมาค้ำมาคูณให้ลูกหลานอีหลี เพื่อให้อยู่ดีมีแฮง ได้มาทุกอันทุกแนวแล้ว ก็ขอเชิญขึ้นมาก่อน

          จากนั้นพวกที่มาก็เหยียบก้อนหินล้างเท้าขึ้นไปบนเรือน พวกหาบของก็นำของไปวางไว้ห้องกลาง ส่วนผู้เฒ่าพายถงก็จัดหาที่ห้อยถง เอาสิ่วออกมาตอกลงที่เสาขวัญแล้วห้องถงไว้จนถึง 7 วัน โดยใช้คำพูดตอกสิ่วว่า

          ตอกบาดหนึ่ง          ให้ได้ฆ้องเก้ากำ

          ตอกบาดสอง          ให้ได้คำเก้าหมื่น

          ตอกบาดสาม         ให้ได้เล้าเข้าหมื่นยาเยีย

          ตอกบาดสี่              ให้ได้เมียมานอนพ่างข้าง

          ตอกบาดห้า            ให้ได้ช้างใหญ่มาโฮง

ตอกบาดหก           ให้ได้ชายโถงมานอนเผ้าเล้า

ตอกบาดเจ็ด           ให้ได้ผู้เฒ่ามานอนเผ้าเฮือน

                             โอม อุ อะมุมะมูนมามหามุนมังฯ

เมื่อตอกสิ่วแล้วจึงเอาถุงห้อย จากนั้นก็เตรียมจัดปูที่นอน ก่อนนอนไปอาบน้ำผัดแป้งแต่งตัวก่อน ห่มผ้าคลุมหัว คลุมเท้า นอนกรนคนรหนึ่งสมมติให้ไก่ขันบอกเวลา 3 ครั้ง แสดงว่าเป็นเวลารุ่งเช้า ผู้นอนจึงตื่นขึ้นมารแก้ความฝันว่า

คืนนี้ฝันหลดฝันหลาด ฝันว่าเพิ่นนี้จูงแขนเข้าพาขวัญเกาะก่าย ฝันว่าเพิ่นนี้ จับไข่ป้อนปันให้แก่เฮา เหมิดกระบวนแล้ว คนเมืองบเกลี้ยงอ่อยห่อยฝันว่าน้องพี่จับจ่องนิ้วเอาอ้ายเข้าบ่อนนอน

เมื่อแก้ความผันเสร็จ เจ้าของเรือนก็ให้พรว่า เออ นอนหลับให้เจ้าได้เงินหมื่น นอนตื่นให้เจ้าได้เงินแสน แปนมือมาให้เจ้าได้แก้วมณีโชติโทษฮ้ายอย่ามาพาน ฝูงมารอย่าได้มาข้องฝูงพี่น้องมิตรหมู่สหาย โอม สหมฯ เป็นเสร็จพิธีขึ้นเฮือนใหม่

กล่าวได้ว่า “เฮือน” หรือเรือนพื้นบ้านอีสาน มีเอกลักษณ์เฉพาะของตนทั้งคติความเชื่อโครงสร้างพื้นฐานของรูปทรงอาคาร ทั้งนี้เพราะชาวอาสนได้พยายามสืบทอดคติความเชื่อรูปแบบตลอดจนโครงสร้างอาคารดังกล่าว มาจากบรรพบุรุษของตนอย่างเคร่งครัด แม้ว่ากระแสการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงของสังคมจะเข้าไปมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตในปัจจุบันมากยิ่งขึ้นก็ตามอย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่าแม้เฮือนพื้นบ้านอีสานนั้นจะมีการปรับเปลี่ยนไปบ้างตามยุคสมัยแต่ชาวอีสานก็ยังคงให้ความสำคัญเกี่ยวกับคติความเชื่อและการปลูกสร้างเรือนที่ยังคงยึดถือสืบเนื่องกันมา กล่าวคือ ความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ดินฟ้า อากาศ และสภาพแวดล้อมทางสังคม ประเพณีวัฒนธรรม ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์เทคโนโลยีที่มีอยู่ในท้องถิ่นและภูมิภาคของตนเป็นสำคัญ

การอนุรักษ์และพัฒนาเฮือนอีสาน

          ลักษณะเฮือนอีสานได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย นับเป็นเรื่องปกติ ซึ่งปัจจุบันวัสดุ อุปกรณ์เปลี่ยนแปลงไปมากมาย แต่การเปลี่ยนแปลงพัฒนาควรจะสมดุลกับการอนุรักษ์อย่างผสมกลมกลืน ไม่ลืมความเป็นอีสานไปหมดสิ้น บ้านปัจจุบันคนพอมีเงินแสดงฐานะด้วยการสร้างบ้านตึกทรงสเปนระดับตกแต่งด้วยสวนญี่ปุ่น แสดงได้เห็นความทันสมัยแต่ไร้การพัฒนาอย่างชัดเจน การอนุรักษ์บ้านอีสานที่ควรจะเป็นมีข้อเสนอดังนี้

          การอนุรักษ์พิธีกรรมตามแนวคิดความเชื่อในการปลูกเฮือนให้เป็นไปตามจารีตประเพณี เช่น การเลือกที่ปลูกบ้าน วัน เดือน ปี วิธีขุดเสา ย้ายแม่ธรณี บูชานาค ผูกเสาแฮก-เสาขวัญ ฯลฯ เพื่อเป็นมงคล

          ลักษณะบางประการของเฮือนอีสานที่ควรอนุรักษ์ เช่น

  • การมีใต้ถุนสูง เพื่อใช้ทำกิจกรรมต่างๆ และอุตสาหกรรมในครัวเรือนในอนาคต
  • ลักษณะหลังคาสีหน้าเฮือนและซานจั่วปั้นลมและไม้ติดปั้นลม ควรได้อนุรักษ์ไว้ ซึ่งอาจจะปรับเปลี่ยนไปบ้างตามยุคสมัยก็ควรคงสิ่งเหล่มนี้ไว้บ้าง

หาทางพัฒนาดินขอ เป็นกระเบื้องดินขอ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ดินทาม (เหนียว) ที่สามารถทำเครื่องปั้นดินเผาได้ตามแนวแม่น้ำชีแม่น้ำมูล รูปร่างดินขออาจมีรูปแบบแตกต่างไปจากเดิมและรูปแบบหลังคาและการมุงคล้ายของเดิม

ไม่ควรนำประจกไปใช้กับบ้านอีสานอย่างฟุ่มเฟือย เช่น  หน้าต่าง ประตู ช่องลม หรือแม้แต่ฝาผนังจะทำให้ร้อนมาก และเกิดการสะท้อนเสียง-แสง

หาทางใช้อิฐและอิฐดินซีเมนต์แทนไม้มากขึ้นในส่วนพื้นบ้านและผนัง เพราะปัจจุบันไม้นับวันจะหายากและราคาแพงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปัจจุบันนิยมเฮือนปูนอยู่แล้ว

หาทางใส่ศิลปกรรมอีสานบางอย่างในการประดับตกแต่งเฮือน เช่น บานประตู หน้าต่าง ช่องลม จั่ว ฯลฯ เพื่อคงความเป็นเฮือนอีสานและสวยงาม

เอาคอกวัว-ควาย ออกจากใต้ถุนเฮือนอีสานในชนบท ซึ่งเดิมบ้านใต้ถุนสูงใช้สำหรับเป็นที่อเนกประสงค์รวมทั้งคอกสัตว์ ซึ่งต่อไปใต้ถุนสูงของบ้านอีสานจะพัฒนาสู่โรงงานอุตสาหกรรมในครัวเรือนได้โดยง่าย เป็นการจัดระเบียบเฮือนอีสาน

หาทางอนุรักษ์เฮือนอีสานในสถานที่ราชการหรือส่วนบุคคล ที่มีศักยภาพพอที่จะทำได้ เพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้ของลูกหลาย โดยทำให้ทุกอย่างถูกต้องตามแบบดั้งเดิม อาจพัฒนาเป็นกลุ่มเฮือนอีสานแล้วจัดกิจกรรการท่องเที่ยวในพื้นที่ มีการผลิตของกินของใช้ ของชำร่วยเพื่อผลทางเศรษฐกิจ

ควรหาทางสนับสนุนให้ชาวบ้านซึ่งมีเฮือนอีสานอยู่แล้วได้โอกาสซ่อมแซมอนุรักษ์ให้สามารถอยู่อาศัยได้เป็นปกติ แล้วใช้เป็นแหล่งการเรียนรู้ของชุมชน

พัฒนาช่างเฮือนอีสาน ให้มีมากขึ้นเพื่อให้ได้บุคลากรช่างที่มีความชำนาญอย่างกว้างขวาง

บ้านเมืองใดมีบ้านเฮือนที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่องและยังคงรักษาไว้ได้ จนเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นแสดงถึงความแกร่งทางวัฒนธรรมทั้งส่วนที่เป็นความคิด ความเชื่อ และภูมิปัญญา (องค์มติ) พิธีกรรมต่างๆ (องค์พิธี) และลักษณะตัวเรือนหรือวัตถุ (องค์วัตถุ) และหน่วยงานจัดการบริหารในชุมชน (องค์กร) และให้เห็นถึงการอนุรักษ์และพัฒนาที่ครบองค์ เฮือนอีสานจักยังไม่ร้างหากองค์ 4 ดังกล่าวยังไม่ร้างจางหายไป การเปลี่ยนแปลงคงเป็นเรื่องปกติธรรมดาของวัฒนธรรมแต่การเปลี่ยนแปลงที่ไร้ราก คงไม่ต่างจากผักตบชวาลอยน้ำแต่หากการเปลี่ยนแปลงเฮือนอีสาน อยู่บนแก่นแกนหรือรางเหง้าเฮือนที่กล่าวมาแล้ว ผสมกับเทคโนโลยีและวิทยาการสมัยใหม่อย่างกลมกลืนสมดุลแล้ว เฮือนอีสานจะเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาของชาวอีสานทั้งมวลอย่างยั่งยืนสืบไป    

เรือนไทยโคราช

             เรือนพักอาศัยพื้นบ้านของชาวจังหวัดนครราชสีมาเขตอำเภอเมือง และอำเภอใกล้เคียง เช่น อำเภอโชคชัย อำเภอปักธงชัย อำเภอสีคิ้ว และอำเภอพิมาย มีลักษณะผิดแผกไปจากบ้านเรือนชาวไทยอีสานในจังหวัดอื่น ๆ อาจเป็นไปได้ที่ว่า เมืองโคราชได้รับการสถาปนาเป็นเมืองพระยามหานครตั้งแต่สมัยอยุธยา รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ผู้คนจากอยุธยารวมทั้งมอญและเชื้อสายเขมร (อีสานใต้) ได้ผสมผสานทางวัฒนธรรมจนเกิดเป็นภาษาพูดที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองอยู่เพียงจังหวัดเดียว แม้แต่การละเล่น “เพลงโคราช” (KORATSONG) ก็แต่งกายแบบนุ่งโจงกระเบน ไม่มีแคนประกอบผิดไปจากการละเล่นของชาวไทยอีสานทั่วๆไป

          ดังนั้น เรือนชาวบ้านจึงได้รับอิทธิพลจากเรือนไทยภาคกลางตั้งแต่สมัยอยุธยามาเป็นส่วนใหญ่ กาลเวลาเนิ่นนานเข้าฝีมือช่างได้เปลี่ยนแปลงไปตามความคิดความอ่านของช่างท้องถิ่นจนเกิดการคลี่คลายในรูปแบบและรายละเอียดบางส่วน จนเกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นขึ้น ซึ่งเราเรียกว่าเป็น “เรือนไทยโคราช”

          เรือนไทยโคราช มักจะสร้างเป็นตัวเรือน 3 ห้องนอน (เสากลม 4 ต้น 3 ช่วงเสา) มีหน้าต่าง 3 บาน ประตู 1 บาน ช่วงก้าวจากประตูลงสู่ระเบียบชาวโคราชเรียกพะระเบียง ประมาณ ศอก สูง 0.08 เมตร จึงต้องมีไม้รองแท่นกระไดอีก  1 ขั้น พะระเบียงนี้เป็นที่นั่งพักผ่อนส่วนหลังคาเรือนจั่วสูงชันลาดมากกว่า 50 องศา มีปั้นลมและการตกแต่งหน้าจั่วเป็นลวดลายการเข้าไม้และแกะสลักต่างๆ

          จั่วที่แตกต่างกันในการเข้าไม้ จะมีชื่อเรียกต่างกัน เช่น

          จั่วเกล็ดลม

          จั่วลูกฟัก

          การเรียกชื่อเรือนก็แตกต่างกัน อาทิ เรือนมาด หมายถึง เรือนที่เจ้าของได้สร้างขึ้นเป็นเรือนหอในการแต่งงานออกเรือน ส่วน เรือนหอ หมายถึงเรือนที่สร้างไว้รับแขก หรือเป็นส่วนที่ให้แขกพัก เป็นต้น

  1. ลักษณะของโครงสร้าง

          ใช้เสากลมแต่งผิวเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 นิ้ว – 5 นิ้วครึ่ง เป็นไม้เต็งรังฝังในดิน 1 ศอก เจาะกลางเสาสอดรอดหรือคานให้ทะลุโผล่ปลายทั้ง 1 ด่าน ราว 30 เซนติเมตร หัวเสาจะทำเป็นเดือยในตัวเรียก ตีนเทียน สูง 1 คืบ สำหรับสวม ขื่อทางนอนลงบนตีนเทียน ยึดขื่อไว้ทั้ง 2 ข้าง กลางขื่อตัวหัวท้ายจะเจาะทะลุให้ปลายตั้งสอดขึ้นจนถึงรอยบาก (ความสูงเท่าความสูงของจั่วบ้าน) เสาดั้งจะบากกลางนั่งบนคานหัวท้าย ไม้อะเส (รัดหัวเสา) จะบากล็อคลงบนร่องบากของขื่อทุกตัวจันทันจะบากวางลงบนไม้อะเสอีกต่อหนึ่ง และจะบากจันทันวางแปทางนอน ไม้กลอนนิยม ไม้ไผ่รวก หรือไม้หมาก เอาเฉพาะผิวและมุงหญ้าเท่านั้น ส่วนไม้ปีกนก (เต้า) จะลอดทะลุเสาออกไปรับเชิงชาย

  1. ลักษณะฝาผนัง

          เท่าทีปรากฏพอแยกได้ 3 ประเภท

  • ประเภทฝาตั้ง (หรือฝาสายบัว) ใช้วางแผ่นกระดานฝาทางตั้ง ตีเคร่าขนาด 1” × 2” ปะกับเฉพาะด้านนอกทุกรอยต่อของแผ่นกระดาน นอกจากนั้นยังยักเยื้องฝาตั้งให้ดูเหมือนฝาทางนอน โดยการเซาะร่องกระดานผ่าทางขวางไปในทางนอนให้เห็นเป็นเส้น ๆ โดยกลอกตานึกว่าเป็นฝานอน
    • เป็นการแบ่งกระดานฝาเป็นช่วง ๆ ไปในทางนอน ตั้งเคร่า 1 × 3” เซาะร่องให้ปลายกระดานสอดซ้อนกันขึ้นไปจนตลอดความสูงของฝา

 

  • ประเภทฝาปรือ (หรือฝากรุเซงดำ) ช่างพื้นบ้านได้นำต้นปรือหรือต้นแว้งซึ่งเป็นหญ้าชนิดหนึ่งมาสอดใสเบียดกันแน่น จนไม่มีช่องลม หรือฝนซึมเข้าได้ แล้วประกับด้วยไม้ไผ่ ผ่าเสี้ยวรมไฟและทารักจนดำเพื่อกันมอดและแมลง (ชาวบ้านเรียก เซงดำ) ทั้งด้านนอกและด้านใน ปลายไม้ไผ่สอดเข้าไปในเคร่า ตั้งไม้จริงขนาด 1× 3”  วางห่างกันประมาณ 40 เซนติเมตรโดยเซาะร่องให้โค้งรับกับรูปร่างของไม้ไผ่ทั้ง 2 ท่อน ซึ่งหนีบเอาต้นปรือไว้อย่างแน่นหนา

            เรือนไทยโคราชตามชนบทออกไปมักนิยมใช้ฝาปรือเป็นส่วนใหญ่เพราะมีราคาถูกและเป็นฉนวนกันความร้อนได้ดี นอกจากนี้เมื่อฝาปรือผุก็สามารถซ่อมแซมได้ง่ายและรวดเร็ว

สิ่งปลูกสร้างในบริเวณบ้าน

            นอกจากตัวเรือนพักอาศัยที่สำคัญแล้ว ยังมีสิ่งปลูกสร้างอื่นอีกหลายประเภทแม้ว่าจะมิได้ใช้ในการพักอาศัยหลับนอน แต่สิ่งเหล่านั้นต่างก็มีความสัมพันธ์กับการดำรงชีวิตของชาวอีสานในวัฒนธรรมไทย-ลาย ได้แก่ เล้าข้าว (ยุ้งข้าว) รั้วบ้าน สวนครัว คอกสัตว์ เป็นต้น

  1. เล้าข้าว (ยุ้งข้าว) เป็นสิ่งปลูกสร้างเพื่อใช้เก็บข้าวเปลือก ตำแหน่งยุ้งข้าวจะตั้งอยู่ใกล้กับเรือนพักอาศัย ซึ่งเป็นอาคารที่มีความสำคัญรองจากเรือน ลักษณะมีทั้งเล้าข้าวขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ลักษณะการก่อสร้างจะปลูกสร้างอย่างถาวรและพิถีพิถันตามคติความเชื่อเดิมที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันกล่าวคือ

       คติในการปลูกเล้าขาวห้ามหันประตูไปทางทิศดาวช้าง (ดาวจรเข้ซึ่งขึ้นทางทิศเหนือ) มีความเชื่อว่า ตรงปากและท้องช้าง ซึ่งมีผลต่อข้าวในยุ้งจะหมดเร็ว

       คติการโยกย้ายเล้าข้าว เมื่อปลูกในทิศทางใดแล้ว เมื่อจะย้ายห้ามย้ายมาปลูกสร้างใหม่ในทิศทางตรงข้ามกับเรือน เช่น แต่เดิมปลูกไว้ในแนวทิศเหนือของตัวเรือนเมื่อจะปลูกใหม่ห้ามปลูกในทิศทางทิศใต้ของเรือน และในกรณีเดียวกัน ตำแหน่งเดิมปลูกทิศใต้ ห้ามย้ายมาสร้างด้านทิศเหนือของเรือน

       ใต้ถุนยุ้งข้าว บ้านใดมีการเลี้ยงหมู จะใช้บริเวณใต้ยุ้งข้าวทำคอกหมูเนื่องจากเป็นส่วนที่ต้องห่างไกลจากกลิ่นที่จะรบกวนต่อบริเวณเรือนพักอาศัย ในกรณีไม่เลี้ยงหมูจะใช้เก็บเครื่องมือเกษตรกรรม

เป็นเล้าที่ใช้ไม้ไผ่สานเป็นผนังเล้าแล้วเอาดินโพนผสมกับขี้ควายทาทั้งภายนอกภายในเหมือนฉาบปูน เมื่อแห้งแล้วจะอยู่ทนทานนานปี ประโยชน์ของการใช้ขี้ควายเป็นตัวประสานอุดรูรั่วจากการสานไม้ไผ่แล้ว ขี้ควายยังส่งกลิ่นรบกวนแมลงที่จะมาทำลายข้าวเปลือก ดังนั้นเล้าข้าวแบบนี้จึงหมดปัญหาเรื่องแมลงทำลายข้าวได้เป็นอย่างดี นับเป็นภูมิปัญญาอันชาญฉลาดของชาวอีสานจริง

  1. ฮั้วบ้าน (รั้วบ้าน) เรือนพื้นถิ่นอีสานในวัฒนธรรมไทย-ลาว จากการศึกษาพบว่า หมู่บ้านที่เป็นหมู่บ้านดังเดิม การทำรั้วกั้นเรือนระหว่างครอบครัวมีน้อยเนื่องจากภายในคุ้มมีบ้านเรือนตั้งอยู่หนาแน่น การกั้นรั้วแสดงเขตจึงไม่เหมาะสมกับสภาพภายในคุ้ม ยกเว้นหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งพื้นที่ว่าง การทำรั้วกั้นจะทำเฉพาะภายนอกคุ้ม ลักษณะใช้ไม้ไผ่ตีแนวเสาอย่างหลวม ๆ หรือบางแห่งสลับกับรั้วที่เป็นต้นไม้ ทำให้เกิดร่มเงาแก่หมู่บ้าน
  2. สวนครัว เนื่องจากสภาพภายในบริเวณลานบ้านของหมู่บ้านอีสานเป็นทางเดินสัญจรได้ตลอดคุ้ม การทำสวนครัวภายในรอบเรือนจึงไม่เหมาะสมที่จะทำสวนครัวหากจะมีบางครัวเรือนปลูกค้างพลูกินหมากและผักประกอบอาหารบางชนิด เป็นสวนครัวขนาดเล็ก และทำรั้วไม้ไผ่ขัดล้อมอย่างหลวม ๆ

เรือนผู้ไท

เรือนผู้ไท เป็นเรือนของชาวผู้ไท ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่อาศัยกระจายอยู่ในภาคอีสาน บริเวณจังหวัดนครพนม สกลนคร และกาฬสินธุ์

เรือนผู้ไท หลังนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับเรือนใหญ่มีโข่งของชาวอีสานทั่วไปแต่โข่งหรือเรือนน้อยของชาวผู้ไทจะเปิดโล่งภายในเรือนใหญ่จะกั้นเป็นห้องเฉพาะห้องกลางเพียงห้องเดียว อีก 2 ห้องทีอยู่ริมจะเปิดโล่งพื้นที่ในเรือนใหญ่นอกจากจะใช้ประโยชน์ในวิถีชีวิตของชาวผู้ไท ยังใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตามความเชื่อของชาวผู้ไท ทั้งเรื่องผี พราหมณ์ และพุทธ ตัวเรือนน้อย หรือ โข่งที่เปิดโล่งนั้น ก็จะใช้เป็นที่ใช้ประโยชน์อื่น ๆ เช่น รับประทานอาหาร พักผ่อนต้อนรับแขก เป็นต้น

เรือนผู้ไท หลังนี้เป็นเรือนที่สถาบันวจัยวลัยรุกขเวชซื้อมาจาก นางแสน เครือสี(เกิดเมื่อ พ.ศ. 2439) เดิมเป็นบ้านเลขที่ 154 หมู่ 11 บ้านกุดบ่อ ตำบลสงเปลือย อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ในราคา 15,000 บาท ภายในเรือนผู้ไท
จะจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ในการดำรงชีวิตของชาวผู้ไท อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตและประเพณีวัฒนธรรมของชาวผู้ไทบ้านของชาวผู้ไทยในเขตบ้านหนองโอ อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร  

ลักษณะของเรือนทรงสูงของชาวผู้ไทยบ้านโนนยาง อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร

               เรือนแบบทรงสูง เป็นเรือนผู้ไทยแบบดั่งเดิม จะยกพื้นสูงทั้งนี้เพราะในอดีตในบางพื้นที่จะเป็นที่ราบลุ่มเพื่อป้องกันน้ำท่วม และป้องกันสัตว์ร้ายต่าง ๆ เพราะในอดีตเป็นป่าดงดิบ เพื่อประโยชน์ในการเลี้ยงสัตว์และเป็นพื้นที่หัตถกรรมในครอบครัว

ลักษณะของโครงหลังคา และวัสดุมุงหลังซึ่งทำจากไม้หน้าจั่วหรือ “ป้านลม”

ดวงเดือน ไชยโสดา…รวบรวม

บรรณานุกรม

ภัทราวดี ศิริวรรณ. สถาปัตยกรรมไทย. ปทุมธานี : สกายบุ๊กส์, 2553 สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ. เรือนไทย. [กรุงเทพฯ] : สำนักงาน, 2536 สุวิทย์ จิระมณี. ศิลปสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอีสานในวัฒนธรรมไทยลาว. ชลบุรี :         คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, 2545 กรรมาธิการสถาปนิกอีสานสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์. สัมมนาเอกลักษณ์         สถาปัตยกรรมอีสานงานนิทรรศการวัสดุก่อสร้าง และผลงานสถาปัตยกรรมอีสานสถาปัตยกรรมอีสานสัญจร.  [กรุงเทพฯ] : กรรมาธิการ, 2530 “พิพิธภัณฑ์บ้านอีสาน,”  สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช สถานีปฏิบัติการนาดูน<http://www.walai.msu.ac.th/newnadoon/index.php?option=com_content&view=category&id=39&Itemid=57 >  9 มกราคม 2555.“เรือนอีสาน,” โครงการจัดตั้งพิพิธภัฑ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.  15 พฤษภาคม 2550.   <http://www.museum.msu.ac.th/webMuseum2/exhibiton_isanhouse.php> 9 มกราคม 2555.ครูใหญ่.  “เฮือนอีสาน,” วารสารวิชาการบัวราชภัฏ. ฉบับเฉลิมพระเกียรติ 75 พรรษามหาราช.  35-41 ; มกราคม  2546.เจด็จ คชฤทธิ์. “เฮือนพื้นบ้าน-สถาปัตยกรรมพุทธศาสนาพื้นถิ่น :สายวัฒนธรรมไทย-ลาว ในดินแดนอีสาน,” วลัยวลงกรณ์.  3(1) : 73-86 ; มกราคม – มิถุนายน 2551.โสภณ จงสมจิต.  “การวิจัยเอกลักษณ์ของเรือนพื้นบ้านอีสานเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนา,” ข่าวสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ. 35(383) :14-36 ; พฤษภาคม 2537.ติ๊ก แสนบุญ.  “เฮือนไท-อีสาน แห่งอดีตสมัย,”  ศิลปวัฒนธรรม.  30(1) : 54-55 ; พฤศจิกายน 2551.วิโรฒ ศรีสุโร.  “วิกฤตสถาปัตย์พื้นถิ่นในดินแดนอีสาน,” อีสานศึกษา.  2(5) : 9-15 ; ตุลาคม – ธันวาคม 2547.เจริญ ตันมหาพราน.  “เรือนอีสาน,” ตราไปรษณียากร.  23(10) : 29-30 ; พฤศภาคม 2536.จิตติมา ผลเสวก.  “ตูบต่อเล้า,” สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์. 50(23) : 82-83 ; พฤศจิกายน 2546.นพดล ตั้งสกุล.  “รูปแบบของพื้นถิ่นกลุ่มไทลาวในภาคอีสานของประเทศไทยและในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว,” วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง.  1(1) : 114-133 ; มกราคม – เมษายน 2548.สมชาย นิลอาธิ.  “เรือนอีสานและประเพณีการอยู่อาศัย,” ศิลปวัฒนธรรม.  9(2) :92-96 ; ธันวาคม 2530.คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.  “เรือนไทยประเพณีภาคอีสาน,” วัฒนธรรมไทย. 30(2) :24-25 ; มิถุนายน – กรกฎาคม 2535.  

วนัทวิรา ฉันทะจำรัสศิลป์. (2564). เรือนไทยภาคอีสาน, 2 กรกฎาคม 2564. https://oer.learn.in.th/search_detail/result/235075