ฮูปแต้มอีสาน : จิตรกรรมฝาผนังอีสาน

ฮูปแต้มอีสาน : จิตรกรรมฝาผนังอีสาน

            ฮูปแต้มคืออะไร….

          ฮูปแต้ม เป็นคำพื้นเมืองในภาษาถิ่นวัฒนธรรมลาวชาวอีสานโบราณ ฮูปแต้ม หมายถึง รูป และคำว่า แต้ม หมายถึง การขีดเขียนหรือการระบายสีเพื่อให้เกิดลักษณะอย่างรูป รวมกันจึงหมายถึง ภาพเขียน หรือ รูปเขียน โดยต่อมาถูกนักวิชาการใช้เรียกในความหมายเดียวกันกับงานจิตรกรรมในวัฒนธรรมหลวง โดยช่างผู้สร้างงานเหล่านี้ภาษาพื้นเมืองอีสานเรียกว่า ช่างแต้ม หรือ ช่างเขียนรูป เมื่อเทียบกับคำหลวงก็คือ จิตรกร นั้นเอง

 

            ฮูปแต้มอีสานอยู่ที่ไหน

             ในแง่พัฒนาการกล่าวได้ว่าฮูปแต้มนั้นพัฒนามาจากการวาดรูปบนผืนผ้าผะเหวด ต่อมาได้พัฒนามาสู่ผืนผนังศาสนาคาร ตามพัฒนาการทางเทคโนโลยีด้านวัสดุแบบก่ออิฐถือปูนอันเป็นเทคโนโลยีนำเข้าจากชาวจีนที่นิยมสร้างตึกดิน โดยช่างพื้นบ้านอีสานได้นำเทคนิคดังกล่าวมาใช้กับอาคารศาสนา

          โดยงานฮูปแต้ม นอกจากจะนิยมเขียนอยู่ตามผนังสิม (โบสถ์) บางแห่งก็เขียนไว้บริเวณคอสองของผนังหอแจก หรือวิหาร รวมถึงผนังตัวเรือนของหอธรรมาสน์ ก็มีปรากฏด้วยเช่นกัน แต่สิ่งที่ฮูปแต้มอีสานแตกต่างจากที่อื่นๆ คือ ช่างแต้มนิยมเขียนฮูปแต้มไว้ที่ผนังด้านนอกตัวอาคาร (แต่ก็มีบางส่วนที่นิยมเขียนอยู่ภายในสิมหรือเขียนทั้งภายนอกและภายใน) คตินี้น่าจะสอดคล้องกับจารีตอีสานที่ไม่ให้ผู้หญิงเข้าไปในสิม และทั้งนี้หากพิจารณาในด้านของประโยชน์ใช้สอยแล้วถือว่ามีความเหมาะสมในการเผยแพร่เข้าถึงเนื้อหาเรื่องราวในฮูปแต้มที่ทุกคนทุกคนเพศทุกวัยสามารถเดินชมฮูปแต้มได้อย่างสะดวกโดยมีหลังคากันสาดหรือหลังคาปีกนกปกคลุมป้องกันแดดฝนโดยรอบ

 

ช่างแต้มคือใคร

          ในเบื้องต้นช่างแต้มหรือผู้สถาปนา มักเป็นผู้ที่มีความรู้พื้นฐานในเชิงช่างทั้งทางโลกและทางธรรมที่ได้รับการยกย่องหรือการยอมรับจากชุมชนที่เรียกว่า ปราชญ์ชาวบ้าน โดยเฉพาะในกลุ่มที่เรียกว่า ช่างพระ เมื่อลาสิกขาก็นำความรู้ความสมารถเหล่านั้นมาใช้ประกอบเป็นอาชีพเสริมหลังฤดูการทำนา บ้างก็ทำเป็นอาชีพหลัก

 

ฮูปแต้มกับสังคมวัฒนธรรม

          ฮูปแต้มอีสาน (ในอดีต) สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะโครงสร้างสังคมเสมอภาคโดยเฉพาะเรื่องราววิถีที่เกี่ยวกับชาวบ้าน สะท้อนให้เห็นค่านิยมบางอย่างของความเป็นกันเองมากแตกต่างจากสังคมที่มีกฎเกณฑ์หรือถูกครอบงำอย่างภาคกลาง โดยเฉพาะสาระในรูปแม้จะเป็นเรื่องชาดกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรามเกียรติ์หรือรามายณะ ซึ่งเนื้อหาสาระสำคัญคือการสดุดีพระเจ้าแผ่นดินในฐานะของพระนารายณ์อวตารมาปราบยุคเข็ญแก่มวลมนุษย์ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมราชสำนักอินเดีย และที่นิยมมากโดยเฉพาะเรื่องพุทธประวัติ ทศชาติ ชาดก เวสสันดร อดีตพระพุทธเจ้า พระมาลัย นรกภูมิ ตลอดจนนิทานประโลมโลกย์หรือนิทานม่วนซื่นพื้นบ้าน สินไซสุริวงศ์ อรพิม ประลักพระลาม และที่สำคัญที่สุดคือ การบอกเล่าประเพณีศิลปวัฒนธรรมผู้คนท้องถิ่น เช่น ประเพณีฮดสรง งานบุญผะเหวด พิธีเผาศพ ประเพณีสู่ขวัญ การละเล่นหมอลำหมอแคน ประเพณีการลงข่วง รสนิยมลักษณะการแต่งกายทั้งคนพื้นเมืองและคนต่างวัฒนธรรม รวมถึงการแสดงออกทางเรื่องเพศอย่างซื่อตรง ด้วยเส้นสายลายสื่อที่เน้นความเรียบง่ายตรงไปตรงมาอย่างชัดเจน

สาระสำคัญที่พบในฮูปแต้ม  

             ในภาพรวมจะเน้นเรื่องที่เกี่ยวกับบาปบุญคุณโทษของศีล 5 อันที่เป็นหลักพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันและเรื่องราวความเสียสละดังที่ปรากฏในเรื่องพระเวสสันดร  โดยสอดแทรกวิถีชาวบ้านเข้าไปในเนื้อหา ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมความบันเทิง การละเล่นที่สนุกสนานที่โป๊ๆ เปลื่อยๆ อย่างในวิถีชาวบ้านที่ซื่อๆ ไร้มารยาดัดจริต โดยมีการรับหรือเลียนแบบวัฒนธรรมบางอย่างตามรสนิยมจากภายนอกเข้ามาไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยีความทันสมัยต่างๆ ผสมผสานกับวัฒนธรรมของตนเองอย่างเป็นเอกลักษณ์ผ่านการบอกเล่าเรื่องด้วยภาพแบบฉบับสกุลช่างชาวบ้านและสกุลช่างชาวเมืองที่รับอิทธิพลจากช่างหลวงทั้งสายราชสำนักลาวและราชสำนักกรุงเทพฯ  แต่ไม่ว่าจะได้รับอิทธิพลกระแสหลักจากราชสำนักใดฮูปแต้มเหล่านั้นล้วนแล้วแต่บูรณาการวัฒนธรรมชาวบ้านชาวเมืองเข้าไปอย่างผสมผสาน มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมของช่างแต้มและอิทธิพลการครอบงำทางสังคมวัฒนธรรมทางการเมืองว่าจะมากน้อยเพียงไร่

 

ลักษณะภาพและเทคนิคการสร้างภาพฮูปแต้ม                ก่อนที่ช่างแต้มจะลงมือเขียนภาพบนผนัง มีขั้นตอนในการเตรียมพื้นก่อนร่างภาพ โดยมักสีขาวทางรองพื้น แล้วร่างภาพด้วยดินสอ จากนั้นจึงลงสี สีที่นิยมใช้คือสีฝุ่นจากธรรมชาติเช่นกัน โดยอาจใช้ยางจากเปลือกต้นบงหรือไขสัตว์ซึ่งแต่ละแห่งนั้นช่างก็มีเทคนิคแตกต่างกันออกไปบ้าง แต่โดยรวมแล้วมีขั้นตอนแลกะการเลือกใช้วัสดุที่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ความโดดเด่นของฮูปแต้มที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละวัดขึ้นอยู่กับฝีไม้ลายมือและทักษะของช่างแต้ม ด้วยความที่ช่างแต้มมีข้อจำกัดในเรื่องของขนาดพื้นผิวที่จะใช้เขียนภาพ เนื่องจากสิมอีสานมีขนาดเล็กจึงต้องใช้ไหวพริบและลูกเล่นในการเลือกภาพที่ต้องการนำเสนอให้ได้ครบถ้วนตามเนื้อเรื่อง ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญและประสบการณ์ในการตัดสินใจไม่ใช่น้อย

ฮูปแต้มอีสาน ถือเป็นงานช่างที่มีคุณค่า ผ่านการแสดงออกโดยไม่จำเป็นต้องมีความประณีตบรรจงเสมอไป ช่างแต้มอาจทำงานอย่างหยาบและรวดเร็วแต่แต่เปี่ยมด้วยอารมณ์และความมีชีวิตจิตใจ อีกทั้งคุณลักษณะทางความงามที่ผสมผสานกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมภายในแห่งที่ว่างทางสถาปัตยกรรมขนาดเล็ก และฮูปแต้มกับองค์ประธานแบบพื้นบ้านอีสาน จะมีความกลมกลืนผสมผสานทางด้านฝีมือในแบบฉบับ “ศิลปะพื้นบ้าน” ที่สัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับงานสถาปัตยกรรมและที่สำคัญคือสามารถสื่อสารกับชาวบ้านได้อย่างเป็นธรรมชาติตามฐานานุรูปทางสังคมและวัฒนธรรม

ฮูปแต้มคุณค่าที่พึงช่วยกันอนุรักษ์  

      ฮูปแต้มอีสาน     เป็นศิลปกรรมท้องถิ่นที่มากไปด้วยคุณค่า อาจกล่าวได้ว่าหากผู้ใดได้ชมฮูปแต้มสักแห่งหนึ่งก็เท่ากับได้รู้จักความเป็นมาของอีสานอย่างดีเลยทีเดียว นอกเหนือจากคุณค่าด้านสุนทรียภาพ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณีชีวิตความเป็นอยู่แล้ว สิ่งสำคัญสูงสุดน่าจะเป็นที่เนื้อแท้ของการสร้างสรรค์ภาพที่ผู้วาดหรือช่างแต้มวาดขึ้นด้วยความศรัทธาและจิตใจที่ฝักใฝ่ในธรรม เพื่อถ่ายทอดและโน้มน้าวผู้คนที่ยึดมั่นอยู่ในคุณความดี ทำให้ผู้ชมเกิดความชื่นชมปรารถนาที่จะเรียนรู้หลักพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง เท่ากับช่วยขัดเกลากิเลสในใจให้เบาบางลง นำไปสู่การมีชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข

                 ในช่วงเวลาที่กระแสสังคมปัจจุบันซับซ้อนยุ่งเหยิง มีตัวแปรและสิ่งเย้ายวนมากมายให้ผู้คนหลงใหลไปในสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ หากเราจะได้ย้อนศึกษาถึงสิ่งที่คนรุ่นก่อนได้สร้างสรรค์ไว้ให้ แม้เพียงเสี้ยวหนึ่ง ก็นับว่าคุ้มค่าแล้วกับสิ่งที่ได้รับรู้ศิลปกรรมที่มีคุณค่าเยี่ยงนี้สมควรที่จะช่วยกันอนุรักษ์ไว้ มิใช่แต่เฉพาะในยุคสมัยของเราเท่านั้น แต่ควรจะรักษาไว้ให้คงอยู่เพื่อส่งต่อมรดกศิลปกรรมของชาติเหล่านี้ไปยังคนรุ่นหลังต่อไปอีกด้วย

…ดวงเดือน ไชยโสดา…

เอกสารอ้างอิง

ติ๊ก แสนบุญ.  “ฮูปแต้มอีสาน : สาระรูปลายมือแห่งวิถีชาวบ้านภาษาภาพในระดับสากล,”                 ศิลปวัฒนธรรม.  31(12) : 52-55 ; ตุลาคม, 2553.

ศิริพันธ์ ตาบเพ็ชร. “ฮูปแต้มสิมอีสานจังหวัดมหาสารคาม,”  เมืองโบราณ. 24(4) : 117-124

ตุลาคม-ธันวาคม, 2541.