ปรางค์กู่บ้านเขวา : กู่เทวสถาน 200 ปีที่มหาสารคาม

 

 

ปรางค์กู่บ้านเขวา 

กู่เทวสถาน 200 ปีที่มหาสารคาม

       กู่คูมหาธาตุ หรือ ปรางค์กู่บ้านเขวา ตั้งอยู่ที่บ้านเขวา ตำบลเขวา  อำเภอเมือง มหาสารคาม ห่างจากตัวเมืองไปตามถนนแจ้งสนิท 13 กิโลเมตร เป็นโบราณสถานที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18

         สร้างด้วยศิลาแลงทั้งหมด เป็นรูปกระโจมสี่เหลี่ยมสูงจากพื้นดินถึงยอด 4 วา กว้าง 2 วา 2 ศอก  กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478

  กรมศิลปากรดำเนินการขุดแต่งและบูรณะด้วยวิธีอนัสติโลซิส
(Anastylosis) คือรื้อออกแล้วประกอบใหม่เข้าที่เดิม เมื่อปี พ.ศ.
2540-2541 กู่บ้านเขวา มีผังหลักของอาคาร คือ ปราสาทประธาน
ก่อด้วยศิลาแลง มีเรือนธาตุ (ห้องครรภคฤหะ) เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุมขนาด 5×5 เมตร มีมุขต่อยื่นด้านหน้า (ทิศตะวันออก)
ส่วนบนทำเป็นชั้นลดเลียนแบบเรือนธาตุซ้อนกันขึ้นไป 4 ชั้น จึงถึงส่วนบัวยอดปราสาท บริเวณมุมทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน มีวิหารหรือบรรณาลัย 1 หลัง มีขนาด 6×7.5 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันตก แต่คงเหลือเพียงส่วนฐานรากที่เป็นห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีมุขยื่นเท่านั้น
มีกำแพงศิลาแลงล้อมรอบ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด กว้าง 25×37 เมตร บริเวณกึ่งกลางกำแพงแก้วด้านหน้า (ทิศตะวันออก) มีประตูซุ้ม (โคปุระ) ที่มีผังเป็นรูปกากบาท ขนาด 10×11 เมตร เพื่อใช้เป็นทางเข้าสู่ศาสนสถาน ซึ่งมีสภาพชำรุดไปมากแล้ว ภายในปราสาทเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพจำนวน 2 องค์ ทำด้วยดินเผา นั่งขัดสมาธิ ประนมมือถือสังข์ ปัจจุบันได้นำไปเก็บรักษาไว้ในวัดมหาชัย ตำบลตลาด อำเภอเมือง มหาสารคาม

   จากการขุดแต่งและบูรณะ พบโบราณวัตถุสำคัญหลายชิ้น ได้แก่ จารึกที่วงกบประตูห้องมุขหน้าปราสาทประธาน เป็นจารึกอักษรขอม ภาษาสันสกฤตจำนวน 2 บรรทัด ซึ่งอาจารย์ชะเอม แก้วคล้าย  ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกและภาษาบาลีสันสกฤต  กรมศิลปากร ได้อ่านและแปล มีความว่า เชิญ / บูชา

พระเจ้าที่อยู่ในอาศรม และกำหนดอายุจากรูปอักษรไว้ราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 นอกจากนี้ยังได้พบพระบุเงิน เป็นศิลปะล้านช้าง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21- 22 หลายสิบองค์บรรจุอยู่ในไห พบภาชนะดินเผา กระเบื้องดินเผาและเครื่องประดับหลังคากระจายอยู่ทั่วไป นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าปรางค์กู่แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นศาสนสถานประจำสถานพยาบาล (อโรคยศาล) ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นศิลปะแบบบายนของขอม เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งจารึกจากปราสาทตาพรหมของขอม ได้กล่าวถึงการสร้าง อโรคยศาล จำนวน 102 แห่ง ในรัชสมัยของพระองค์ (ในดินแดนประเทศไทยได้พบอาคารที่มีผังรูปแบบเช่นเดียวกันนี้กว่า 20 แห่ง) อย่างไรก็ตาม หลังจากสิ้นสุดอิทธิพลจากอาณาจักรขอมแล้วศาสนสถานนี้ก็ยังมีการเคารพนับถือกันสืบต่อมา ในศิลปะแบบล้านช้าง ราวพุทธศตวรรษที่ 21-22 ด้วย

 

           มีกำแพงทำด้วยศิลาแลงล้อมรอบ โคปุระอยู่แนวด้านทิศตะวันออกเป็นทางเข้า-ออกภายในกำแพงเพียงด้านเดียว บรรณาลัยอยู่ภายในกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีทางเข้าในปรางค์ประธานเพียงด้านเดียว คือ ทิศตะวันออก ส่วนอีก ๓ ด้านเป็นประตูหลอก กรอบประตูและทับหลังเป็นหินทราย   

 

ในการขุดแต่งภายในบริเวณศาสนสถานยังได้พบโบราณวัตถุ ได้แก่

  1. พระไภสัชยคุรุไวฑูรย์ประภา

   เป็นประติมากรรมสลักจากหินทราย มีความสูง 46 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 31 เซนติเมตร

ลักษณะเป็นรูปเคารพประทับนั่งสมาธิราบ สวมมงกุฎกระบังหน้า ยอดบนเป็นกรวยแหลม พระหัตถ์ทั้งสองถือวัตถุทรงกลม สันนิษฐานกันว่า อาจเป็นรูปพระโพธิสัตว์ไภสัชยคุรุไวฑูรย์ ประภา พระโพธิสัตว์ผู้รักษาโรคภัย (ทั้งปวง) ตามที่มักปรากฏชื่อในศิลาจารึกประจำอโรคยศาลทั่วไป  รูปเคารพชิ้นนี้ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่วัดมหาชัย ตำบลตลาด อำเภอเมืองมหาสารคาม

  1. พระวัชรปาณีทรงครุฑ  

             ประติมากรรมพระวัชรปาณีทรงครุฑชิ้นนี้ สลักจากหินทราย แต่มีสภาพชำรุดโดยมีส่วนลำตัวเบื้องล่างของครุฑหักหายไปทั้งหมด นอกจากนี้ใบหน้าของพระวัชรปาณีก็แตกชำรุด ประติมากรรมดังกล่าว พบระหว่างการขุดแต่งบูรณะกู่บ้านเขวา เมื่อปี พ.ศ. 2541 พระวัชรปาณีรูปแบบเช่นนี้ ได้ค้นพบมาแล้วจากปราสาทหินหลายแห่ง เช่น กู่แก้ว อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ปราสาทจอมพระ และกลุ่มปราสาทตาเมือน จังหวัดสุรินทร์ เป็นต้น สำหรับพระโพธิสัตว์วัชรปาณีนั้นเป็นพระโพธิสัตว์ผู้ถือวัชระมีหน้าที่คอยดูแลรักษา พุทธศาสนา นิกายมหายาน ซึ่งเป็นศาสนาที่นับถือกันในสมัยนั้นประติมากรรมดังกล่าวเป็นงานศิลปกรรมแบบบายนราวพุทธศตวรรษที่ 18

  1. พระพุทธรูปบุเงิน

          ในการขุดแต่งกู่บ้านเขวาเมื่อปี พ.ศ.2540-2541 ได้พบภาชนะดินเผาทรงไหหลายใบ ซึ่งภายในไหได้บรรจุพระพุทธรูปบุเงินประมาณ 20-30 องค์ต่อใบ พระพุทธรูปบุเงินเหล่านี้แกนในทำจากเนื้อดินผสมว่านแล้วจึงนำแผ่นเงินมาหุ้ม (บุ) โดยรอบ จากนั้นจึงแกะลายแผ่นเงินเป็นรายละเอียดขององค์พระพุทธรูป นอกจากนี้ที่ฐานของพระบุเงินบางองค์ยังมีการจารึกข้อความด้วยอักษรไทยน้อยไว้ด้วย โดยเป็นข้อความบอกกล่าวถึงจุดประสงค์ในการสร้าง เพื่อหวังพระนิพพานและเพื่อการอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ พระบุเงินนี้เป็นศิลปะลาวล้านช้าง อายุราวศตวรรษที่ 21-24

 เรื่องโดย ดวงเดือน ไชยโสดา

โพสต์เมื่อ 8 พฤษภาคม 2568, 12.29 โดย ดวงเดือน ไชยโสดา

เอกสารอ้างอิง

ทศพล จังพานิชย์กุล. (2548, 16 มกราคม). ข่าวสด. 29.

กรมวิชาการ.  ตักสิลามหาสารคาม : สะดืออีสาน.  มหาสารคาม : กรมวิชาการ, 2546.

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสาร และจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.  วัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดมหาสารคาม.  กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2544.

สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 7 ขอนแก่น.  โบราณสถานขึ้นทะเบียนในเขตสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 7 ขอนแก่น.  กรุงเทพฯ : สำนักงาน, 2545.

สุทธิชัย  ปทุมล่องทอง.  ที่นี่ประเทศไทย : ท่องเที่ยวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ.  กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊คส์,  2549.