แกงเห็ดเผาะ : ทรัพย์ในดินกินอร่อย 1 ปี มีครั้งเดียว
เห็ดเผาะหรือเห็ดถอบ
เห็ดเผาะหรือเห็ดถอบ (Barorneter Earthstars) เป็นเห็ด พื้นบ้านพบทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เห็ดที่อยู่ในป่าเขตร้อนชื้น อยู่ในจำพวกราชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ Diplocystaceae มีลักษณะเป็นเห็ดรา อยู่ในหมวด Basidiomycota ในไทยมี 3 ชนิด ได้แก่ 1. เห็ดเผาะฝ้าย (feeraeae hygnomernicad) 2. เห็ดเผาะหนัง (A.odoratuo) 3. siaticud
ดอกเห็ดเผาะมีลักษณะ เป็นเม็ดกลมจนถึงกลมแบน ขนาด 1.5-3.5 เซนติเมตร เติบโตได้ดีร่วมกับต้นไม้ใหญ่หลายชนิดที่มีดินปนทรายในป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ที่มีไม้ใหญ่จำพวกไม้สัก เหยียง เต็ง รัง ยางนา และไม้ตองตึง เป็นต้น ดอกเห็ดพบได้ตามพื้นดิน โคนต้นไม้ โขดหิน ใต้พุ่มไม้ ลักษณะทรงกลมแบน มีทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่เท่าเม็ดกระดุมจนถึงเหรียญ 5 บาท เมื่อเป็นเห็ดอ่อนมีสีขาวนวลอมน้ำตาล เมื่อแก่จะมีสีน้ำตาลเข้าจนคล้ำ
เมื่อดอกบาน เปลือกนอกแตกออกเป็นรูปดาว 6-8 แฉก ภายในเป็นถุงกลมสีขาวหม่น ขนาด 1.3-3.4 ช.ม. ด้านบนแตก ออกเป็นรูเพื่อให้สปอร์ฟุ้งกระจายออกมา สปอร์รูปกลมสีน้ำตาลขนาด 7 – 11 ไมครอน ผิวขรุขระ การขยายพันธุ์ในช่วงฤดูฝน
ฝนมาเข้าป่าหาเห็ด…หม่องได๋เคยมี…มันต้องมีแท้ๆ… คนอีสานจะใช้ภูมิปัญญาการหาเก็บเห็ด..สามารถรู้ได้จากอากาศที่สัมผัส “อากาศเอ้าๆ (อากาศร้อนอบอ้าว) แบบนี่เห็ดเผาะต้องออกแท้ๆ” จากนั้นชาวกะซวนกันไปเก็บเห็ด..โดยอาศัยประสบการณ์จากที่ผ่านมาว่าสภาพอากาศแบบนี้เห็ดเผาะที่อยู่ในป่าจะต้องออก (งอกหรือผุด) ขึ้นมาจากดินให้ได้เก็บ..ป่าที่เคยหาก็จะเป็นป่าไม้ที่เห็ดเคยขึ้นมา จากภูมิปัญญาของชุมชนคนที่มีความรู้เรื่องเห็ดเผาะก็จะชวนเพื่อนที่ชอบเก็บเห็ดเหมือนกันเข้าป่าหาเก็บเห็ดเผาะ …
ป่าเห็ดถือเป็นแหล่งอาหารของคนอีสาน…นอกจากได้อิ่มแล้วยังได้เงิน…ถ้าถึงฤดูออกของเห็ด..แถวรายทางตามถนนในเส้นทางของป่าชุมชน…คนอีสานจะนำเห็ดที่เก็บได้..มานั่งเรียงรายขายกันข้างทาง ถือว่าป่ามีความสำคัญต่อชีวิต ชุมชน..สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น..
ระยะดอกอ่อนพบฝังอยู่ใต้ผิวดิน อาจโผล่ออกมาให้เห็นเพียงบางส่วนของดอก ต้องใช้ความชำนาญจึงจะสามารถสังเกตเห็นดอกเห็ดในสภาพธรรมชาติได้ เมื่อดอกแก่จึงเจริญโผล่พ้นผิวดินขึ้นมา หรือเวลาฝนตกชะหน้าดินออกจะเผยให้เห็นดอกเห็ดสีขาวนวลตามผิวดิน พบการกระจายมากโดยเฉพาะบริเวณใต้ต้นพลวง เหียง รัง ยางนาที่เป็นพืชอาศัยของเอคโตไมคอร์ไรซาในป่าเต็งรัง ป่าสน เพราะช่วยให้กล้าไม้แข็งแรงทนทานต่อสภาพแวดล้อมต่าง ๆ นอกจากนี้ยังพบดอกเห็ดได้ในบริเวณที่มีขี้เถ้าของขอนไม้ถูกเผา
ฤดูกาลเก็บเห็ดเผาะอยู่ในช่วงต้นฤดูฝน (พฤษภาคม-สิงหาคม)
ชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมเข้าไปหาเห็ดเผาะในป่าเต็งรัง ป่าสน และป่าเบญจพรรณ จากการสำรวจข้อมูลพบว่า ชาวบ้าน 1 คน สามารถเก็บเห็ดเผาะได้ 5.08- 15 ลิตรต่อครั้ง โดยเก็บเห็ดเพื่อการบริโภคในครัวเรือนและการจำหน่ายในตลาดท้องถิ่นพบการค้าขายในรูปดอกเห็ดสด เห็ดต้ม และเห็ดกระป๋อง ราคาของดอกเห็ดที่มีการซื้อขายในท้องตลาดประมาณ 200-500 ต่อกิโลกรัม ขึ้นกับปริมาณดอกเห็ดที่ออกสู่ตลาด ความอ่อนแก่ ความอร่อย และความต้องการของตลาด ในช่วงต้นฤดูกาลเห็ดเริ่มออกใหม่เป็นดอกเห็ดอ่อน (หรือชาวบ้านนิยมเรียกว่า เห็ดหนุ่ม) ราคาจะแพงจากนั้นราคาจะลดลงตามลำดับ
เห็ดเผาะหรือเห็ดถอบ มีคุณค่าทางอาหารที่น่าสนใจ จากการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ เห็ดเผาะ 100 กรัม ให้พลังงาน 47 กิโลแคลอรี ประกอบด้วยน้ำ 87.8 กรัม โปรตีน 2.2 กรัม ไขมัน 0.4 กรัม คาร์โบไฮเดรต 8.6 กรัม แคลเซียม 39 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 85 มิสลิกรัม เหล็ก 3.6 มิลลิกรัม ไทอะมีน 0.04 มิลลิกรัม ไนอะซิน 0.7 มิลลิกรัม วิตามินซี 12 มิลลิกรัม
เห็ดเผาะมีสรรพคุณ
– ช่วยในการบำรุงร่างกายให้ร่างกายแข็งแรง
– ช่วยรักษาอาการช้ำใน
– ช่วยป้องกันโรควัณโรค
– ช่วยป้องกันและยับยั้งการเกิดของเซลล์มะเร็งได้ดี
– ช่วยในการสมานแผลและผิวให้เรียบเนียน
– ช่วยในการลดอาการบวมหรืออักเสบ
– ช่วยแก้อาการร้อนใน และแก้ไข้
– ช่วยให้เลือดแข็งตัวได้เร็ว หยุดไหลได้ง่ายขึ้น
– ช่วยบรรเทาอาการคันตามนิ้วมือหรือนิ้วเท้า
แกงเห็ดเผาะ : เมนูดีปีละครั้ง
คนไทยบริโภคเห็ดเผาะมาช้านาน เป็นอาหารพื้นถิ่นไทย โดยเฉพาะภาคอีสาน ภาคเหนือ โดยนิยมนำมาทำแกง เช่น แก่งอ่อม แกงคั่วใส่ปลาย่างกับชะอม เรียกว่า แกงคั่วเห็ดเผาะ ส่วนทางภาคอีสาน นิยมนำมาแกงใส่น้ำใบย่านางปรุงรสด้วยน้ำปลาร้าเพื่อความนัว
เครื่องปรุงแกงเห็ดเผาะ
เห็ดเผาะล้างสะอาด 1 ถ้วยแกง
น้ำปลาร้า 2-3 ช้อนโต๊ะ เกลือ 1 ช้อนชา
ใบมะขามอ่อน 1 กำมือ
ใบแมงลัก พริกสด ตะไคร้
หัวหอมแดง
น้ำคั้นใบย่านาง 2 ถ้วยแกง
วิธีการปรุง
- นำเห็ดล้างให้สะอาดพักไว้
- นำน้ำยานางใส่หม้อยกขึ้นตั้งไฟ ใช้ไปกลาง
- โขลกพริก ตะไคร้ กระเทียม หัวหอมแดง ให้ละเอียด
- เมื่อน้ำต้มในหม้อเดือด นำเครื่องปรุงที่โขลกไว้ใส่ลงในหม้อ และใส่เห็ดที่เตรียมไว้
- ปรุงรสด้วยเครื่องปรุงและใส่ใบมะขามอ่อน ชิมรสตามชอบเน้นรสนัว รอจนสุก (สังเกตุจากน้ำใบย่านางมีสีดำคล้ำ) จึงใส่ใบแมงลัก เป็นอันเสร็จตักใส่ถ้วยพร้อมรับประทาน
แกงเห็ดเผาะจะได้ความเข้มข้นของน้ำใบย่านาง รสเปรี้ยวเข้ากันด้วยใบมะขามอ่อน ได้กลิ่นหอมจากใบแมงลัก มีความนัวจากน้ำปลาร้าบวกกับความกรุบกรอบของเห็ดเผาะเคี้ยวเข้ากันอร่อยจนลืมอิ่มไปเลย
ดวงเดือน ไชยโสดา…
เอกสารอ้างอิง
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช. “เห็ดเผาะ,” วารสารสวจ. 3, 7 (กุมภาพันธ์ 2554) : 1
ทวีศักดิ์ เกษปทุม.(2566). แกงคั่วเห็ดเผาะแกงเฉพาะฤดูกาล ของดีปีละครั้ง. มติชนบทเทคโนโลยีชาวบ้าน. 35, (797), 84-85.