บุญเดือนแปด : บุญเข้าพรรษา

“บุญเดือนแปด”

เดือน ๘ เป็นเดือนอยู่ในระยะหน้าฝน และเป็นเดือนที่พระอยู่จำพรรษาตลอดสามเดือนไม่ไปค้างคืนที่อื่น ยกเว้นแต่มีกิจที่จำเป็น แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน ๗ วัน ถ้าเกินนั้นถือว่าพรรษาขาด โดยปกติแล้วกำหนดเอาวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ของปีที่เป็นปกติมาส (๘ หนเดียว)  เป็นวันอธิฐานเข้าพรรษา สำหรับปีที่เป็นอธิกมาสคือ ๘ สองหน กำหนดเอาวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ หลัง เป็นวันอธิฐานเข้าพรรษาเพราะมีกำหนดทำกันในเดือน ๘ เป็นประจำ จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า

มูลเหตุมีการเข้าพรรษ

ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่เวฬุวันกลันทกะนิวาปะสถานณ เมืองราชคฤห์  มีพระภิกษุพวกหนึ่งเรียกว่า “ฉับพัคคีย์” ได้เที่ยวไปทุกฤดูกาลไม่หยุดพักเลย โดยเฉพาะฤดูฝนอาจไปเหยียบย่ำข้าวกล้า และหญ้าระบัดใบตลอดสัตว์เล็กเป็นอันตราย ประชาชนทั่วไปพากันติเตียน พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติให้พระภิกษุสามเณรจำพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน

การทำบุญ

การทำบุญในวันเข้าพรรษา  

มีการทำบุญด้วยการถวายเทียนเข้าพรรษาเพื่อให้ภิกษุสามเณร ได้จุดบูชาพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ ตลอดพรรษา และการถวายผ้าอาบน้ำฝน เพื่อให้ภิกษุได้ใช้นุ่งอาบน้ำในหน้าฝน  ตลอดทั้งการใช้ประโยชน์อย่างอื่นตามความเหมาะสม  การถวายผ้าอาบน้ำฝนนี้ ถือได้ว่า ได้บุญมาก และเป็นกาละทานชนิดหนึ่งที่ชาวพุทธทั่วไปนิยมทำกันเมื่อถึงฤดูเข้าพรรษา

 

เดือนแปดนี้ มีบทผญาประจำเดือนที่นักปราชญ์โบราณกล่าวไว้ว่า…

“จันทร์เพ็งแจ้งทอแสงใสสง่า   เดือนแปดมาฮอดแล้วแววสิขึ้นลื่นหลัง
เดือนนี้สงฆ์เพิ่นยังเข้าอยู่จำพรรษา   ภาวนาอบรมข่มใจทุกแลงเช้า
เฮามาพากันเข้าเอาบุญพร้อมพร่ำ ถวายผ้าอาบน้ำฟ้าให้ญาท่านได้ใช้สอย”

มูลเหตุที่มีการถวายผ้าอาบน้ำฝน

ผ้าอาบน้ำฝน คือผ้าที่พระภิกษุใช้นุ่งอาบน้ำ เป็นผ้าขาวหรือสีเหลืองเหมือนจีวรขนาดยาว 4 ศอก กว้าง 1 ศอก  เป็นบริขารที่จำเป็นสำหรับภิกษุ

มีเรื่องเล่าว่า เดิมพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ใช้เพียงผ้า 3 ผืน คือ ผ้าสังฆาฏิ 1 ผ้าห่ม 1 และผ้านุ่ง 1  ครั้นถึงฤดูฝนพระภิกษุบางรูปจะอาบน้ำฝนไม่มีผ้านุ่งอาบน้ำจึงเปลือยกายอาบน้ำ วันหนึ่งนางวิสาขาใช้สาวใช้ไปวัดขณะฝนตก สาวใช้เห็นพระภิกษุเปลือยกายอาบน้ำฝนจึงกลับมาเล่าให้นางวิสาขาฟัง นางวิสาขาจึงกราบทูลพระพุทธเจ้า ขอถวายผ้าอาบน้ำฝน พระองค์จึงทรงอนุญาตเขตกำหนดแสวงหาผ้าและเวลาใช้ผ้าอาบน้ำฝนให้พระภิกษุถือเป็นกิจวัตรปฏิบัติตั้งแต่นั้นมาและนางวิสาขาได้นำไปถวายจนเป็นประเพณีสืบมาถึงทุกวันนี้ เมื่อถึงวันเข้าพรรษาญาติโยมจะนำผ้าอาบน้ำฝนไปถวายภิกษุสามเณร   

เทียนพรรษา

เทียนพรรษา  เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ชาวพุทธจะยึดถือเป็นประเพณี

   นำเทียนไปถวายพระภิกษุในเทศกาลเข้าพรรษา เพื่อปรารถนาให้ตนเอง

   เป็นผู้เฉลียวฉลาด มีไหวพริบ ประดุจ แสงสว่างของดวงเทียน

เทียนพรรษา คือ เทียนขนาดใหญ่และยาวเป็นพิเศษกว่าเทียนชนิดอื่น สำหรับจุดใน โบสถ์ตั้งแต่วันเข้าพรรษาจนถึงวันออกพรรษา

การทำเทียนพรรษา มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ จากการนำรังผึ้งมาต้ม

เอาขี้ผึ้งไปฟั่นเป็นเทียนนำไปถวายพระภิกษุ  เอาเทียนเล่มเล็กหลายๆ

เล่ม มามัดรวมกันเป็นลำต้นคล้ายกับ ต้นกล้วย หรือลำไม้ไผ่ แล้วนำไปติดกับฐาน ซึ่งการมัดรวมกันแบบนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่นิยมเรียกว่า ต้นเทียน หรือต้นเทียนพรรษา  

ต้นเทียนพรรษาประเภทแรก คือ “มัดรวมติดลาย” เป็นการเอาเทียนเล่มเล็กๆ

มามัด รวมกันบนแกนไม้ไผ่ให้เป็นต้นเทียนขนาดใหญ่ แล้วตัดกระดาษเงิน กระดาษทองเป็นลายต่างๆ ติดประดับโดยรอบต้นเทียนต่อมามีการคิดทำต้นเทียนเป็นต้นเดี่ยว เพื่อใช้จุดให้ได้นานโดยการใช้ลำไม้ไผ่ที่ทะลุปล้องเป็นแบบหล่อ เมื่อหล่อเทียนเป็นต้นเสร็จแล้วจึงนำมาติดที่ฐาน และจัดขบวนแห่เทียนไปถวายพระที่วัดการตกแต่งต้นเทียน เริ่มมีขึ้นโดยภูมิปัญญาชาวบ้าน ใช้ขี้ผึ้งลนไฟหรือตากแดดให้อ่อน แล้วปั้นเป็นรูปดอกลำดวนติดต้นเทียน หรือเอาขี้ผึ้งไปต้มให้ละลาย แล้วใช้ผลมะละกอ หรือ ผล ฟักทองนำมาแกะเป็นลวดลาย ใช้ไม้เสียบนำไปจุ่มในน้ำขี้ผึ้ง แล้วนำไปจุ่มในน้ำเย็น แกะขี้ผึ้งออก จากแบบ ตัดและตกแต่งให้สวยงามนำไปติดที่ต้นเทียน

ดวงเดือน ไชยโสดา…

แหล่งข้อมูล : มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน. 2542. ฮีตสิบสอง [จุลสาร] = ประเพณีอีสานสิบสองเดือน. มหาสารคาม : สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม